ไข้ฉี่หนู Leptospirosis
เรียบเรียงโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุษณีย์ สุทธิสารสุนทร
จัดทำโดย คณะกรรมการแผ่นพับเพื่อการประชาสัมพันธ์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
สาเหตุของโรค
ไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียที่มีรูปร่างเกลียว มีชื่อว่า เลปโตสไปรา ( Leptospira ) จึงเรียกชื่อโรคนี้ว่าเลปโตสไปโรซิส ( Leptospirosis ) เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคในคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว สุกร โค กระบือ ม้า แพะ แกะ ฯลฯ และที่สำคัญคือ หนู แต่สัตว์ต่าง ๆ อาจไม่แสดงอาการป่วย
การติดต่อ
โรคนี้ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยสัตว์ที่เป็นโรคนี้จะขับถ่ายเชื้อโรคออกมากับปัสสาวะ เชื้อจะอาศัยได้ในดินที่ชื้นแฉะหรือมีน้ำขัง และเข้าสู่คนทางผิวหนังอ่อน เช่น ชอกนิ้วมือและเท้า บาดแผลหรือเยื่อเมือก ดังนั้นมักจะพบโรคนี้ในคนที่ทำงานเกียวข้องกับสัตว์ เช่น สัตวบาล เกษตรกร และผู้มีอาชีพสัมผัสกับน้ำหรือคนที่ย่ำน้ำในที่น้ำท่วมขังนาน ๆ
แหล่งระบาด
โรคนี้พบมากในเขตร้อนหรือเขตมรสุม เพราะมีสภาพอากาศที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของเชื้อ และมีสัตว์ที่เป็นรังโรคอยู่ชุกชุม ในประเทศไทยโรคนี้กระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีรายงานพบผู้ป่วยมากในภาคอีสาน
อาการ
คนที่ได้รับเชื้ออาจมีหรือไม่มีอาการ ในผู้ที่มีอาการมักแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ 2-3 วัน จนถึง 2-3 สัปดาห์ อาการที่สำคัญ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อโดยอย่างยิ่งที่น่อง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย หรืออาการทางสมองและระบบประสาท และอาจถึงตายได้ ( อัตราการตายสูงถึงร้อยละ 10-40)
การวินิจฉัย
โดยการซักประวัติผู้ป่วยเกี่ยวปัจจัยเสี่ยงของโรค อาการป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดและปัสสาวะของผู้ป่วย
การรักษา
โรคนี้หากรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ โดยให้ยาปฏิชีวนะเฉพาะโรคจะได้ผลดีกว่าปล่อยให้มีอาการรุนแรงแล้วจึงรักษา เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เอง เพราะอาจเป็นอันตรายจาการแพ้ยา หรือใช้ยาที่ไม่ถูกต้องได้ ดังนั้นควรพบแพทย์เพี่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง
การป้องกัน
• ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายโดยไม่เดินย่ำหรือแช่อยู่ในน้ำที่ท่วมขัง
• ถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้ป้องกันการสัมผัสน้ำโดยใช้รองเท้าบู้ทยาง ถุงมือยาง เป็นต้น
• ควรฉีดวัคซีนให้สัตว์เลี้ยงเพื่อไม่ให้เป็นรังโรค
• กำจัดหนู และปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาดถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของหนู