Tsetse fly เป็นแมลงวันชนิดหนึ่งที่มีเฉพาะในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นแมลงวันที่มีความสำคัญมากทางการแพทย์ เพราะเป็นพาหะทำให้เกิดโรค African trypanosomiais ซึ่งถือเป็นโรคร้ายแรง รักษายาก และในรายที่มีอาการรุนแรงจะทำให้เสียชีวิตได้ โชคดีที่ประเทศไทยไม่มีโรคดังกล่าวและไม่มี tsetse fly ซึ่งเป็นพาหะ แต่ปัจจุบันมีคนไทยนิยมไปเที่ยว ดูสัตว์ป่า ท่องซาฟารีในทวีปแอฟริกามากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นพวกเรานักท่องเที่ยวจึงควรจะมีความรู้เรื่องโรค และการป้องกันไว้บ้าง เพื่อจะได้ท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยและมีความสุข
ก่อนจะกล่าวถึง tsetse fly ต่อไป แนะนำให้นักท่องเที่ยวที่มีแผนการเดินทาง หรืออยากจะไปเที่ยวแอฟริกาทุกคนควรได้อ่าน เรื่องควรรู้ควรเตรียมตัวก่อนไปเที่ยวแอฟริกา ก่อนครับ จะได้เข้าใจถึงการเตรียมตัวก่อนไปเที่ยวแอฟริกาในภาพรวม ซึ่งมีหลายประเด็นด้านสุขภาพที่ต้องเตรียมตัว
เรามาดูข้อมูลเกี่ยวกับ tsetse fly กันทีละข้อครับ
1. Tsetse fly คืออะไร
Tsetse fly (อ่านว่า เซทซี ฟาย หรือ ซีทซี ฟาย) เป็นแมลงวันชนิดหนึ่งมีเฉพาะในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในเขตชนบท ในทุ่งหญ้าสะวันนา หรือในโซนซาฟารี แมลงวันนี้ไม่มีในประเทศไทย ทำให้ไม่มีชื่อภาษาไทย ตัว tsetse fly นี้มีขนาดใหญ่ คือประมาณ 6-15 มม. ใหญ่กว่าแมลงวันบ้านเรามาก นอกจากนี้มันยังร้ายกว่าแมลงวันบ้านเรามาก เนื่องจากมันสามารถกินเลือดคนหรือสัตว์ได้ โดยมันจะพุ่งเป้าเข้าหาเหยื่อ และใช้ปากดูดเลือด มักจะออกหากินตอนกลางวัน แหล่งชอบที่อยู่อาศัยคือบริเวณพุ่มไม้ หรือใกล้ฝูงสัตว์ โดยคนที่ถูกกัดจะเจ็บมาก มากกว่ายุงกัดหลายเท่า ดังนั้นคนที่ถูกกัดทุกคนจะรู้ตัวว่าถูกกัด
2. Tsetse fly นำโรคอะไร และพบได้ที่ไหน
tsetse fly เป็นพาหะของเชื้อ Protozoa ที่มีชื่อว่า Trypanosoma brucei ซึ่งทำให้เกิดโรค African sleeping sickness หรือโรคไข้เหงาหลับ ซึ่งนี้ยังสามารถแยกเป็น 2 ชนิดย่อยๆคือ
- East African Trypanosomiasis โรคนี้พบมากในทวีปแอฟริกาแถบตะวันออก เช่น ประเทศแทนซาเนีย ยูกันดา มาลาวี เคนยา ฯลฯ เกิดจากเชื้อในสายพันธ์ุ Trypanosoma brucei rhodesiense ซึ่งมีความรุนแรงสูง ระยะฟักตัวสั้นประมาณ 1-3 สัปดาห์
- West African Trypanosomiasis พบในทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันตก เช่นประเทศ DR คองโก กาบอง ซูดาน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ฯลฯ เกิดจากเชื่อในสายพันธุ์ Trypanosoma brucei gambiense มีระยะฟักตัวช้ากว่า อาจเป็นเดือนหรือเป็นปี ความรุนแรงมักจะน้อยกว่า
3. เที่ยวซาฟารีที่ไหน เสี่ยงต่อการเป็นโรค African sleeping sickness
ประเทศที่นักท่องเที่ยวไทยชอบไปเที่ยวซาฟารีกันคือ ประเทศแทนซาเนีย (อุทยานแห่งชาติเซเรนเกติ) และประเทศเคนยา (อุทยานแห่งขาติมาไซมาร่า) ทั้งสองประเทศถือว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่ของการถูก tsetse fly กัด และอาจเป็นโรค African sleeping sickness ได้ ส่วนถ้าเที่ยวซาฟารีในประเทศแอฟริกาใต้ เช่น อุทยานแห่งชาติครูเกอร์ (Kruger National park) หรืออุทยานแห่งชาติพิลาเนสเบิรก์ (Pilanesburg) จะแถบไม่มีความเสี่ยงเลย สำหรับซาฟารีที่ซิมบับเว หรือบอสวานา จะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่จะต่ำกว่าทางเคนยา และแทนซาเนีย
4. อาการของโรค African Sleeping sickness เป็นอย่างไร วินิจฉัยและรักษาอย่างไร
ถ้าติดเชื้อมาจากประเทศเคนยา แทนซาเนีย มักเป็นโรคในสายพันธุ์ East African sleeping sickness โรคจะมีความรุนแรง โดยนักท่องเที่ยวมักมีอาการภายใน 1-3 สัปดาห์หลังถูกกัด โดยอาจมีแผล chancre บริเวณที่ถูกกัด ผู้ป่วยจะมีไข้สูง มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต และจะมีอาการทางระบบประสาท เช่น ซึม มีความผิดปกติในการหลับ ความรู้สติลดลง โคม่า จนถึงเสียชีวิตได้ ส่วนถ้าติดเชื้อมาจากประเทศในแถบตะวันตกของแอฟริกา (West African sleeping sickness) อาการจะค่อยเป็นค่อยไป ระยะฟักตัวจะนานเป็นเดือนหรือเป็นปี อาการจะไม่จำเพาะ เช่นมีไข้เป็นๆหายๆ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และมีอาการทางระบบประสาทได้เช่นกัน
โรคนี้เป็นโรคที่ไม่พบในประเทศไทย ทำให้อาจจะวินิจฉัยหรือรักษายาก นักท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค และมีอาการสงสัยจะเป็นโรคดังกล่าว ควรรีบมาพบแพทย์ และต้องให้ประวัติการเดินทางเสมอ แพทย์จะทำการเจาะเลือด เพื่อหาเชื้อในกระแสเลือดหรือตรวจโดยวิธีอื่น โรคนี้เป็นโรคร้ายแรงที่ต้องรีบให้การวินิจฉัยและรักษา ซึึ่งการรักษาปัจจุบันใช้ยาเป็นหลัก แต่ยามีผลข้างเคียงสูงและหายาก ผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคดังกล่าว ควรปรึึกษาแพทย์เฉพาะทาง หรือส่งต่อมายังสถาบันทางการแพทย์ที่มีความชำนาญจะเหมาะสมกว่า
5.จะป้องกันการถูก tsetse fly กัดได้อย่างไร
อันดับแรกเลยครับ คือต้องหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มี tsetse fly อยู่ แต่คำแนะนำข้อนี้มักจะขัดกับการไปท่องซาฟารีพอสมควร เนื่องจากซาฟารีที่คนไทยไปเที่ยวมักจะเป็นจุดที่มี tsetse fly มากเสียด้วย เช่น เรามักจะไปเที่ยวอุทยานเซเรนเกติ ในแทนซาเนีย หรือมาไซมาร่าในประเทศเคนยา ซึ่งจริงๆ ทั้ง 2 อุทยานนี้เป็นผืนป่าเดียวกัน และมีสัตว์อพยพจำนวนมาก ซึ่ง tsetse fly มักจะพบมากตามฝูงสัตว์ เนื่องจาก tsetse ถูกกระตุ้นง่ายต่อการเคลื่อนไหว เช่น สัตว์อพยพ หรือรถวิ่ง ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมนั่งรถท่องซาฟารีจะมีความเสี่ยงต่อการถูก tsetse fly กัดอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าใครจะให้ปลอดภัยจริงๆคงเลือกไปประเทศอื่นเช่น ประเทศแอฟริกาใต้แทน อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าห้ามหรือไม่ควรไปแทนซาเนียหรือเคนยาได้ แต่ต้องรู้และเข้าใจความเสี่ยงและต้องเตรียมตัวให้ดีดังนี้
- สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด คลุมข้อมือ ข้อเท้า
- ใส่เสื้อที่ใช้ผ้าหนา เพราะ tsetse fly สามารถกัดทะลุเสื้อผ้าที่บางๆได้
- ไม่ควรเข้าไปใกล้สุมทุมพุ่มไม้ เนื่องจาก tsetse fly อาจจะหลบในสุมทุมพุ่มไม้
- ก่อนขึ้นรถควรสำรวจดูก่อนว่ามี tsetse fly อยู่ในรถหรือไม่
- ไม่ควรใส่เสื้อผ้าสีฟ้าหรือน้ำเงิน รวมทั้งกางเกงยีนส์สีน้ำเงิน/กรมท่า เพราะเป็นสีที่ tsetse fly ชอบ ควรใส่เสื้อผ้าสีกลางๆ เช่นสีน้ำตาล สีเทา โดยไม่ฉูดฉาด ไม่มืดเกินไป และไม่สว่างเกินไป
- ควรใช้ยากันยุงที่มีส่วนผสมของ DEET ความเข้มข้นสูงจะป้องกันได้ดีกว่าความเข้มข้นต่ำๆ ถ้าให้ดีควรมีความเข้มข้นประมาณ 20-50% และควรใช้สารเคมี Permethrin ชุบมุ้งหรือเสื้อผ้าเพื่อป้องกัน
ปัจจุบันยังไม่มียาหร่ือวัคซีนที่สามารถป้องกันโรค African sleeping sickness หรือ African trypanosomiasis ได้
6. ถ้าถูก tsetse fly กัดทำอย่างไรดี
ก่อนอื่นอย่าพึ่งตระหนกตกใจจนเกินไปครับ การถูก tsetse fly กัดเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในคนที่ไปเที่ยวซาฟารีในแอฟริกา แต่คนที่ถูกกัดไม่จำเป็นต้องเป็นโรค African sleeping sickness เสมอไป เพราะจริงๆแล้วมี tsetse fly เพียงส่วนน้อยที่จะมีเชื้อ Trypanosoma อยู่ แต่ไม่มีตัวเลขทางสถิติยืนยันว่า ถ้าถูก tsetse fly กัด แล้วกี่เปอร์เซ็นจะเป็น sleeping sickness แต่เชื่อว่าเปอร์เซ็นน้อยมาก อย่างไรก็ตามเนื่องจากโรค sleeping sickness เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง นักท่องเที่ยวที่ถูก tsetse fly กัด ควรหมั่นสังเกตุอาการตนเอง ถ้ามีผื่นขึ้น มีไข้ ปวดศีรษะ หรืออาการผิดปกติอื่นใดควรรีบมาพบแพทย์ และต้องแจ้งประวัติการเดินทางแก่แพทย์เสมอ ว่าได้ไปซาฟารีที่แอฟริกามา และถูก tsetse fly กัด
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
- US CDC Information about African Sleeping sickness
- World Health Organization (WHO): Information on African trypanosomiasis
- Youtube: Tsetse fly attack อย่าใส่ชุดสีน้ำเงิน
- Youtube: Introduction to African trypanosomiasis
Leave a Reply