ข้อควรรู้ก่อนไป trekking สำหรับมือใหม่ #2 การประเมินร่างกายตัวเองเบื้องต้นก่อนไป Trekking

เมื่อตอนที่แล้ว เราได้พูดกันว่าการไปเที่ยวแบบ Trekking ไม่ใช่การไปเที่ยวแบบสบายๆ อย่างน้อยต้องเดิน และเดินมากด้วย ดังนั้นต้องคิดสักนิดนะครับว่าเราชอบการเดินเที่ยวแบบนั้นจริงๆ  ใครที่ยังไม่ได้อ่านตอนแรก แนะนำให้ไปอ่านก่อนครับ  (อ่านได้ที่นี่)

วันนี้เราจะมาว่ากันต่อครับ สมมุติว่าเราชอบที่จะเที่ยวแบบ trekking (หรือคิดว่าตัวเองชอบ) แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะเดินไหว เราแข็งแรงมากพอไหม อย่างแรกเลยนะครับ ต้องศึกษาแผนการเดินทางโดยละเอียดครับ ว่า Route ที่เราจะ Trekking นั้นต้องเดินมากน้อยแค่ไหนในแต่ละวันและต้องเดินขึ้นที่สูงแค่ไหน ประเด็นนี้ดูจะเป็นประเด็นง่ายๆ แต่เชื่อไหมครับว่า มือใหม่ส่วนหนึ่งไม่ได้ศึกษาเลย แค่เห็นวิวสวย พอเพื่อนชวนก็ซื้อทัวร์เตรียมตัวไปแล้ว

ลองดูตัวอย่างนี้ครับ  เมื่อช่วงที่ผ่านมา  มีคนไทยส่วนหนึ่งมาที่คลินิกนักท่องเที่ยวของเรา บอกว่าจะไปเที่ยว trekking ที่ Kashmir Great Lake เหมือนในรูปด้านล่าง แล้วมาขอใบรับรองแพทย์ว่าสุขภาพดี สามารถไปเที่ยวได้

จริงๆกรณีแบบนี้ยากเหมือนกันครับ หมอเราต้องประเมินดีๆว่านักท่องเที่ยวจะไปได้ไหม ซึ่งมีวิธี และขั้นตอนพอสมควร แต่ในที่นี้จะไม่ลงรายละเอียดทางการแพทย์ในที่นี้ครับ เพราะ blog นี้เราจะเน้นให้นักท่องเที่ยวประเมินตนเองในเบื้องต้นก่อนเลยว่า น่าจะไปไหวไหม ถ้าไปไม่ไหวจะได้ไม่ซื้อทัวร์ ไม่งั้นจะเสียเงินฟรี

ตัวอย่างโปรแกรม Trekking Kashmir Great Lakes ที่มีคนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ 

ขั้นแรกเลยคือ นักท่องเที่ยวควรศึกษาแผนการเดินทางในแต่ละวันให้ดีครับ ถ้าดูในโปรแกรมทัวร์ดีๆ จะเห็นแผนการเดินทางดังนี้ครับ 

Day 1: Reach Shitkadi. Transport will be arranged at 2.30 pm from Sheikh Feroze Tours & Travels, Sathu, Barbara Shah Chowk, near Flourmill, Srinagar. Cost of 5-6 seater cab is around Rs. 2,300 and is shared between trekkers.

Day 2: Shitkadi (7,780 ft) to Nichnai (11,838 ft); 11.6 km, 6.5 hours

Day 3: Nichnai (11,838 ft) to Vishnusar (12,011 ft); 13.5 km, 7 hours

Day 4: Vishnusar (12,011 ft) to Gadsar (12,200 ft) via Gadsar Pass (13,850 ft); 16 km, 7.5 hours

Day 4-8  ………

 

ดูรายละเอียดแล้ว บางคนยังไม่เห็นภาพ หมอเรามักจะแนะนำให้ทำแผนการเดินทางเป็นรูปครับจะได้เข้าใจง่ายขึ้นและเห็นภาพดังนี้ครับ

รูปแสดงแผนการเดินทางในแต่ละวัน

การประเมินว่าจะเดินไหวไหม อย่างน้อยต้องประเมินใน 3 มิติคือ

มิติที่ 1 การเดินทางราบ

ต้องดูว่าเดินไกลแค่ไหน และน่าจะไหวไหม จะเห็นว่า วันที่2 ต้องเดิน 11.6 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 6.5 ชั่วโมง คนที่จะไปต้องลองถามตัวเองเลยนะครับว่าปกติชอบเดินหรือไม่ และคิดว่าเดินวันละ 10 กิโลเมตรไหวไหม บางคนแค่เดิน 1-2 กม.ก็เหนื่อย ก็เมื่อยแล้ว ก็จะลำบาก ควรฝึกเดินไกลๆก่อน เพราะการไปในสถานที่จริงต้องเดินเป็น 10 กิโลฯ และไม่ใช่แค่นั้นครับ วันที่ 2 ต้องเดินต่ออีก 13.5 กิโลฯเราจะไหวไหม นั่นคือมิติแรกที่ต้องคิดครับว่าตนเองจะพอเดินไหวไหม

มิติที่ 2 เดินขึ้นที่สูงแค่ไหนในแต่ละวัน 

การเดิน trekking จะต้องมีการเดินขึ้นเขา เป็นทางชัน มากน้อยต่างกันอยู่แล้ว ตรงนี้มือใหม่หลายคนมักจะมองข้ามไป เราต้องเอาตัวเลขความสูงของแต่ละวันมาดูเลยนะครับว่า ในแต่ละวันเราต้องเดินขึ้นสูงแค่ไหน  จากตัวอย่างข้างบน วันที่ 2 เราอยู่ที่ Shitkadi อยู่ที่ 2377 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และเราต้องเดินทั้งวัน 11.6 กิโลเมตร แล้วไปนอนพักที่ 3505 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล แปลว่าอะไรครับ แปลว่าเราต้องเดินขึ้นทางสูง 1128 เมตร หรือประมาณ1.1 กม.ทางสูงขึ้นไปข้างบน คิดว่าไหวไหม

ตรงนี้อาจจะเทียบยากครับ บางคนไม่เห็นภาพว่าสูงแค่ไหน ลองนึกตามดูนะครับ ตอนนี้ตึกที่สูงที่สุดในบ้านเราคือตึกมหานคร สูง 314 เมตร รองลงมาเป็นตึกใบหยก 2 สูง 304 เมตร  แปลว่า วันแรกเราต้องเดินขึ้นทางสูงอย่างน้อย 3 ตึกใบหยกต่อกัน คิดว่าจะเดินขึ้นไหวไหมครับ  หลายคนเห็นแบบนี้ก็พึ่งนึกขึ้นได้ว่า 1000 เมตร ขึ้นทางสูง ถือว่าสูงมากนะครับ แต่ไม่ได้แปลว่าไปไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ขึ้นรวดเดียว เราค่อยๆเดินขึ้นไปเรื่อยๆใช้เวลาทั้งวัน หลายคนก็ไปได้ครับ แต่อยากให้คิดสักนิดหนึ่งและประเมินให้เห็นภาพก่อนว่าเราจะต้องเดินขึ้นสูงประมาณไหน

อีกวิธีหนึ่ง คือเรามักจะเปรียบเทียบกับการเดินขึ้นเขาในเมืองไทย เช่นการขึ้นภูกระดึง เราจะต้องเดินเป็นระยะทาง 5.5 กิโลเมตร จากด้านล่างถึงหลังแป ความสูงที่ต้องเดินขึ้นประมาณ 1000 เมตร ซึ่งใกล้เคียงกับ Kashmir Great lake trekking ในวันที่2 ที่จะเดิน

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ซึ่งต้องออกแรงเดินขึ้นสูงประมาณ1000 เมตร
Chatanun [CC BY-SA 3.0]

ดังนั้นหมอเรามักจะถามว่าเคยขึ้นภูกระดึงไหม แต่คิดว่าขึ้นภูกระดึงไม่ไหว ก็อย่าเพิ่งไป Kashmir Great Lake เลย เพราะจะลำบากกว่านั้น เพราะแม้ความสูงในการเดินขึ้นจะเท่าๆกัน แต่สำหรับภูกระดึง ขึ้นไปถึงข้างบนแล้ว ส่วนใหญ่ต่อจากนั้นเป็นการเดินทางราบที่ไม่ไกลมาก ไม่มีเดินขึ้นเขาอีก  แต่มาดู Great Lake ครับ วันต่อไปต้องเดินอีก 13 km มีช่วงที่ขึ้นเขาด้วยถึงประมาณ 600 เมตร เราจะเดินไหวไหม ต้องพิจารณาตัวเองดูดีๆครับ  

มิติที่ 3 High altitude illness และ ความเบาบางของออกซิเจน 

ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญครับ ที่ทำให้ใครหลายคนตกม้าตายมาแล้ว โดยเฉพาะนักกีฬาที่แข็งแรงๆ สามารถวิ่งได้เป็นทางไกลๆ อาจคิดว่าเดิน trekking ไม่กี่กม.น่าจะหมูๆ แต่ต้องระวังนิดนะครับว่าเพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ออกซิเจนต่ำมาก่อน และแต่ละคนจะปรับตัวกับระดับออกซิเจนที่ต่ำได้ไม่เท่ากัน บางคนแข็งแรงดีแต่มีอาการของ high altitude sickness ที่ความสูงต่ำกว่าก็ได้

ลองกลับมาดูตัวอย่างของเราครับ ในวันที่ 3 เราจะอยู่ที่ 3505 เมตร ซึ่งระดับออกซิเจนตรงนั้นจะมีค่าประมาณแค่ 66% ของระดับน้ำทะเล แปลว่าอะไรครับ ออกซิเจนในบรรยากาศเบาบางลงมากนะครับ คนปกติบางคนอาจเริ่มมีอาการที่ 3500 เมตรอยู่แล้ว จะเดินหรือไม่เดินก็ปวดศีรษะ เหนื่อยบ้าง แล้วลองคิดดูครับ วันนั้นเราจะต้องเดินอีก 10 กม. ไหวไหม บางคนลืมคิดไปบอกว่าสบายมากแต่ต้องเน้นนะครับว่าเดิน 10กม.ในบรรยากาศที่มีออกซิเจนแค่ 66%จากที่เคยได้รับ จะไหวไหม ตรงนี้ยากเหมือนกันครับ เพราะมีรายละเอียดมาก ใครยังไม่เคยอ่านเรื่อง High altitude sickness ของให้ลองไปอ่านข้อมูลต่างๆดูก่อนครับ

บทความนี้อาจจะยาวสักหน่อย แต่ก็สำคัญและอยากให้เห็นภาพว่า การไป trekking ต้องประเมินดีๆครับ อย่างน้อยต้องประเมินใน 3 มิตินี้ จริงๆยังมีรายละเอียดอีกพอสมควร โดยเฉพาะนักเดินทางที่มีโรคประจำตัว หรือมีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงเช่น ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์จะไปเที่ยวแบบ trekking ในที่สูงได้หรือไม่ ไว้มีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังทีหลังครับ

Leave a Reply

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>