เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคปอดอักเสบในประเทศจีน: ตระหนักแต่ไม่ตื่นตระหนก

ช่วงนี้มีข่าวเรื่องการระบาดของโรคปอดอักเสบในประเทศจีนในหลายสื่อ รวมทั้งสื่อออนไลน์ต่างๆ  ทำให้อาจเกิดความแตกตื่นและสับสนกับเหตุการณ์ เราลองมาดูข้อมูลกันดีไหมครับ จะได้เข้าใจและไม่เกิดความตื่นตระหนกกันมากเกินไป 

1. เกิดอะไรขึ้นที่เมืองจีน ทำไมถึงเป็นข่าวกัน?

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ทางการของประเทศจีนได้ประกาศว่าพบการระบาดของโรคปอดอักเสบปริศนาเกิดขึ้นในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในมณฑลหูเป่ย ทางตอนกลางของประเทศจีน  โดยล่าสุด (5 มกราคม 2563) พบผู้ป่วยทั้งหมด 59 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ มีผู้ป่วย 7 รายมีอาการรุนแรงแต่ยังไม่มีใครเสียชีวิต

จริงๆโรคปอดอักเสบเป็นโรคที่พบได้ในประชากรทั่วไปอยู่แล้ว แต่ที่แปลกและต้องระวัง เนื่องจากมีการพบผู้ป่วยหลายรายในพื้นที่เดียวกัน และบางรายมีความรุนแรง ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือไม่

2. สาเหตุของโรคปอดอักเสบนี้คืออะไร

จริงๆยังไม่มีใครรู้ครับว่าเกิดจากเชื้ออะไร  การไม่รู้ว่าเกิดจากอะไรทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า จะเกิดจากเชื้อโรคซาร์ส (SARS: Severe Acute Respiratory Syndrome) หรือไม่ หรือจะเป็นเชื้อรุนแรงต่างๆ  เช่น ไข้หวัดนก (Avian influenza) หรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางเมอร์ส หรือ โรคเมอร์ส (MERS: Middle East Respiratory Syndrome)

แต่ผลการตรวจ lab เบื้องต้น ในสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วยรายแรก ไม่พบเชื้อโรคซาร์ส ไม่พบเชื้อไข้หวัดนก ไม่พบเชื้อโรคเมอร์ส และไม่พบเชื้อไข้หวัดใหญ่ และโชคดีที่ยังไม่พบการระบาดจากคนสู่คน และไม่พบการระบาดในวงกว้าง

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญที่กำลังสอบสวนโรคกันอยู่ คือ พบว่าผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีประวัติเดินทางไปตลาดขายอาหารทะเล (Huanan Seafood market) ซึ่งตลาดนั้นนอกจากขายอาหารทะเลแล้วยังมีการขายแมว สุนัข งู รวมถึงสัตว์ป่าอื่นๆด้วย โรคนี้จะสัมพันธ์กับการติดเชื้อโรคที่ตลาด หรือติดโรคจากสัตว์หรือไม่ ยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตามทางการจีนได้ประกาศปิดตลาดแห่งนี้เพื่อตรวจสอบและควบคุมการแพร่กระจายของโรคแล้ว

3. อาการของโรคปอดอักเสบในครั้งนี้เป็นอย่างไร?

อาการของโรค จะคล้ายการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนคือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก อาจพบมีอาการหายใจไม่สะดวก หรือมีอาการของปอดอักเสบร่วมด้วย อย่างไรก็ตามจากการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยเข้าข่ายติดเชื้อในประเทศฮ่องกงพบว่าบางรายไม่มีไข้ และบางรายไม่มีอาการของปอดอักเสบ

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย หากท่านหรือญาติ หรือพบใครที่มีอาการดังกล่าวภายใน 14 วันหลังเดินทางกลับมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ขอให้รีบพบแพทย์และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบถึงประวัติการเดินทางทันที 

4. ปัจจุบันโรคนี้แพร่ระบาดไปที่ใดบ้าง พบในเมืองไทยหรือยัง

การระบาดเริ่มต้นขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ล่าสุด (5 มกราคม 2563) มีรายงานพบผู้ที่สงสัยการติดเชื้อในนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับจากเมืองอู่ฮั่นบ้างประปราย ที่ประเทศฮ่องกง และสิงคโปร์ แต่ไม่พบผู้ป่วยยืนยันว่าติดเชื้อเหมือนในประเทศจีน หลายประเทศแถบเอเชียเริ่มมีมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว

ปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยสงสัยโรคดังกล่าวในประเทศไทย

5. ทางการไทยได้เตรียมตัวอย่างไรในการป้องกันโรคดังกล่าว

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการวางแผนเฝ้าระวังและวางมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเข้มงวดในทุกช่องทางการผ่านเข้าออกของประเทศไทย รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมหน่วยงานต่างๆ และเตรียมทีมสอบสวนโรคติดต่ออันตรายไว้แล้วในทุกจังหวัดของประเทศไทย ดังนั้นพวกเรามีความมั่นใจได้ครับในระบบการป้องกันโรคของเรา อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ประมาท ถ้าพบผู้ป่วยต้องสงสัย และมีประวัติการเดินทางกลับจากประเทศจีนในพื้นที่ดังกล่าว ให้รับแจ้งเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขทันที

 

 

6. จะไปเที่ยวเมืองจีนได้ไหมในช่วงนี้

ปัจจุบันพบผู้ป่วยเฉพาะในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยเท่านั้น ดังนั้นยังสามารถไปเที่ยวในเมืองอื่นๆ เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง คุนหมิง ฯลฯ ได้  อย่างไรก็ตามเมื่อไปท่องเที่ยวควรดูแลสุขอนามัยทั่วไป เช่น  ควรกินอาหารที่สุก สะอาด ใช้ช้อนกลาง หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังตลาดสด ตลาดสัตว์ปีก และงดกินอาหารดิบ ในนักท่องเที่ยวกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และพบแพทย์ก่อนการเดินทางถ้าไม่แน่ใจ

สำหรับโรคปอดอักเสบปริศนา กับการเดินทางไปเที่ยวในประเทศจีน

  • ผู้ที่เดินทางกลับจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ควรสังเกตอาการ ถ้ามีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก หายใจหอบเหนื่อย ภายใน 14 วันควรไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางเสมอ
  • ควรติดตามข่าวสารการระบาดของโรคอยู่เป็นระยะ โดยติดตามได้ที่ website ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หรือที่ US CDC Travel Notice

Leave a Reply

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>