นายชัย อายุ 20 ปี เป็นชาวนาที่ขยันขันแข็ง ว่างจากนาก็แบกแหไปจับปลาตามลำน้ำใกล้บ้านเป็นประจำ ปกตินายชัยเป็นคนแข็งแรงดี แต่แล้ววันหนึ่ง นายชัยก็ล้มป่วยเป็นไข้สูง ปวดเมื่อยตัวมากโดยเฉพาะที่น่อง นายชัยเชื่อว่าตนเองไม่เป็นอะไรมาก จึงซื้อยาลดไข้มากินเท่านั้น แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น
5 วันต่อมา นายชัยก็นอนซม กินไม่ลง ปัสสาวะออกน้อย นางชื่นผู้ภรรยาสังเกตเห็นว่าที่ตาขาวเป็นปื้น แดงๆ เหมือนเลือดออกด้วย จึงรีบพานายชัยมาโรงพยาบาลเพราะกลัวเป็นไข้เลือดออก
ที่โรงพยาบาล หมอตรวจพบว่าความดันโลหิตของนายชัยค่อนข้างต่ำมีเลือดออกใต้เยื่อบุตาขาวและมีดีซ่าน จึงรีบให้น้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำ และตรวจเลือดและปัสสาวะ พบว่า นายชัยติดเชื้อโรคฉี่หนู และมีภาวะแทรกซ้อนคือตับอักเสบ และไตทำงานไม่ดี
นางชื่น: โรคฉี่หนูเกิดจากอะไรค่ะ
หมอ: โรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อโรคชนิดหนึ่งคือ เลปโตสไปรา (Leptospira) พบโรคนี้ได้ทั่วประเทศไทย แต่พบชุกชุมในจังหวัดทางภาคอีสาน ปกติจะพบเชื้อเลปโตสไปราในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู วัว ควาย สุนัข แต่สัตว์เหล่านี้จะไม่ป่วย แต่จะถ่ายเชื้อโรคปนออกมากับปัสสาวะของมันในธรรมชาติ เชื้อสามารถอยู่ในน้ำจืดและดินที่ชื้นแฉะได้นาน เมื่อคนไปสัมผัสกับแหล่งที่มีเชื้อโรคนี้ โดยเฉพาะขณะที่ ผิวหนังมีบาดแผล เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เป็นโรคได้ครับ
นางชื่น: แล้วทำไมเรียกว่าโรคฉี่หนูล่ะคะ
หมอ: ในตอนแรกๆ ที่มีการค้นพบโรคนี้ พบว่าเชื้อนี้อยู่ในปัสสาวะหรือฉี่ของหนู จึงเรียกว่าโรคฉี่หนู แต่ภายหลังพบว่าสัตว์อื่นก็นำโรคได้ แต่ก็ยังเรียกว่าโรคฉี่หนูเรื่อยมาครับ
นางชื่น: ทำไมเป็นรุนแรงจังเลยคะ ปกติพี่ชัยเค้าก็แข็งแรงดีไม่น่าเป็นหนักขนาดนี้
หมอ: คนที่ได้รับเชื้อ บางคนก็ไม่เป็นโรค บางคนมีเพียงไข้ไม่รุนแรงแล้วหายเอง ส่วนน้อยที่เป็นโรครุนแรงแบบนายชัย บางคนรุนแรงกว่านี้อีกคือมีตับวาย ไตวาย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไอเป็นเลือด และเสียชีวิต แต่ที่เป็นปัญหาคือเราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่าใครเป็นโรคแล้วจะมีอาการรุนแรงแต่เรารู้ว่าหากเป็นแล้วรีบรักษาจะป้องกันไม่ให้โรครุนแรงขึ้นได้ และจะหายเร็วกว่ารักษาตอนอาการหนักแล้ว
นางชื่น: แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นโรคนี้จะได้รีบรักษาน่ะค่ะ
หมอ: คนที่เคยลุยน้ำหรือที่ชื้นแฉะ หรือสัมผัสมูลสัตว์ในถิ่น ที่มีโรคชุกชุมแล้วมีไข้ ต้องระวังว่าจะเป็นโรคนี้ นอกจากนี้ หากมีอาการที่คล้ายโรคนี้มาก เช่น มีไข้ร่วมกับตาแดง หรือเลือดออกใต้เยื่อตาขาว ปวดน่อง ก็ควรรีบหาหมอ เพื่อตรวจว่าเป็นโรคนี้หรือไม่
นางชื่น: แถวไหนที่มีโรคนี้ชุกชุมค่ะ
หมอ: ส่วนใหญ่จะเป็นทางอีสาน เช่น ขอนแก่น ศรีสะเกษ น่าน กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ครับ
นางชื่น: จะทำยังไงถึงจะไม่เป็นโรคนี้ค่ะ
หมอ: ก็หลีกเลี่ยงการสัมผัสมูลสัตว์ และการแช่น้ำหรือที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะถ้ามีแผลที่ขา แต่ชาวนาชาวสวนจะหลีกเลี่ยงได้ยากหากจำเป็นต้องลุยน้ำหรือโคลนก็ให้อาบน้ำ ฟอกสบู่ให้สะอาด และถ้ามีไข้โดยเฉพาะถ้ามีอาการอย่างที่ว่าก็ควรรีบหาหมอครับ
อนุเคราะห์ข้อมูลจากหนังสือ “โรคเขตร้อนฉบับประชาชน”
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
Leave a Reply