เมื่อตอนที่แล้ว เราได้พูดกันว่าการไปเที่ยวแบบ Trekking ไม่ใช่การไปเที่ยวแบบสบายๆ อย่างน้อยต้องเดิน และเดินมากด้วย ดังนั้นต้องคิดสักนิดนะครับว่าเราชอบการเดินเที่ยวแบบนั้นจริงๆ ใครที่ยังไม่ได้อ่านตอนแรก แนะนำให้ไปอ่านก่อนครับ (อ่านได้ที่นี่)
วันนี้เราจะมาว่ากันต่อครับ สมมุติว่าเราชอบที่จะเที่ยวแบบ trekking (หรือคิดว่าตัวเองชอบ) แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะเดินไหว เราแข็งแรงมากพอไหม อย่างแรกเลยนะครับ ต้องศึกษาแผนการเดินทางโดยละเอียดครับ ว่า Route ที่เราจะ Trekking นั้นต้องเดินมากน้อยแค่ไหนในแต่ละวันและต้องเดินขึ้นที่สูงแค่ไหน ประเด็นนี้ดูจะเป็นประเด็นง่ายๆ แต่เชื่อไหมครับว่า มือใหม่ส่วนหนึ่งไม่ได้ศึกษาเลย แค่เห็นวิวสวย พอเพื่อนชวนก็ซื้อทัวร์เตรียมตัวไปแล้ว
ลองดูตัวอย่างนี้ครับ เมื่อช่วงที่ผ่านมา มีคนไทยส่วนหนึ่งมาที่คลินิกนักท่องเที่ยวของเรา บอกว่าจะไปเที่ยว trekking ที่ Kashmir Great Lake เหมือนในรูปด้านล่าง แล้วมาขอใบรับรองแพทย์ว่าสุขภาพดี สามารถไปเที่ยวได้
จริงๆกรณีแบบนี้ยากเหมือนกันครับ หมอเราต้องประเมินดีๆว่านักท่องเที่ยวจะไปได้ไหม ซึ่งมีวิธี และขั้นตอนพอสมควร แต่ในที่นี้จะไม่ลงรายละเอียดทางการแพทย์ในที่นี้ครับ เพราะ blog นี้เราจะเน้นให้นักท่องเที่ยวประเมินตนเองในเบื้องต้นก่อนเลยว่า น่าจะไปไหวไหม ถ้าไปไม่ไหวจะได้ไม่ซื้อทัวร์ ไม่งั้นจะเสียเงินฟรี
ขั้นแรกเลยคือ นักท่องเที่ยวควรศึกษาแผนการเดินทางในแต่ละวันให้ดีครับ ถ้าดูในโปรแกรมทัวร์ดีๆ จะเห็นแผนการเดินทางดังนี้ครับ
Day 1: Reach Shitkadi. Transport will be arranged at 2.30 pm from Sheikh Feroze Tours & Travels, Sathu, Barbara Shah Chowk, near Flourmill, Srinagar. Cost of 5-6 seater cab is around Rs. 2,300 and is shared between trekkers.
Day 2: Shitkadi (7,780 ft) to Nichnai (11,838 ft); 11.6 km, 6.5 hours
Day 3: Nichnai (11,838 ft) to Vishnusar (12,011 ft); 13.5 km, 7 hours
Day 4: Vishnusar (12,011 ft) to Gadsar (12,200 ft) via Gadsar Pass (13,850 ft); 16 km, 7.5 hours
Day 4-8 ………
ดูรายละเอียดแล้ว บางคนยังไม่เห็นภาพ หมอเรามักจะแนะนำให้ทำแผนการเดินทางเป็นรูปครับจะได้เข้าใจง่ายขึ้นและเห็นภาพดังนี้ครับ
การประเมินว่าจะเดินไหวไหม อย่างน้อยต้องประเมินใน 3 มิติคือ
มิติที่ 1 การเดินทางราบ
ต้องดูว่าเดินไกลแค่ไหน และน่าจะไหวไหม จะเห็นว่า วันที่2 ต้องเดิน 11.6 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 6.5 ชั่วโมง คนที่จะไปต้องลองถามตัวเองเลยนะครับว่าปกติชอบเดินหรือไม่ และคิดว่าเดินวันละ 10 กิโลเมตรไหวไหม บางคนแค่เดิน 1-2 กม.ก็เหนื่อย ก็เมื่อยแล้ว ก็จะลำบาก ควรฝึกเดินไกลๆก่อน เพราะการไปในสถานที่จริงต้องเดินเป็น 10 กิโลฯ และไม่ใช่แค่นั้นครับ วันที่ 2 ต้องเดินต่ออีก 13.5 กิโลฯเราจะไหวไหม นั่นคือมิติแรกที่ต้องคิดครับว่าตนเองจะพอเดินไหวไหม
มิติที่ 2 เดินขึ้นที่สูงแค่ไหนในแต่ละวัน
การเดิน trekking จะต้องมีการเดินขึ้นเขา เป็นทางชัน มากน้อยต่างกันอยู่แล้ว ตรงนี้มือใหม่หลายคนมักจะมองข้ามไป เราต้องเอาตัวเลขความสูงของแต่ละวันมาดูเลยนะครับว่า ในแต่ละวันเราต้องเดินขึ้นสูงแค่ไหน จากตัวอย่างข้างบน วันที่ 2 เราอยู่ที่ Shitkadi อยู่ที่ 2377 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และเราต้องเดินทั้งวัน 11.6 กิโลเมตร แล้วไปนอนพักที่ 3505 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล แปลว่าอะไรครับ แปลว่าเราต้องเดินขึ้นทางสูง 1128 เมตร หรือประมาณ1.1 กม.ทางสูงขึ้นไปข้างบน คิดว่าไหวไหม
ตรงนี้อาจจะเทียบยากครับ บางคนไม่เห็นภาพว่าสูงแค่ไหน ลองนึกตามดูนะครับ ตอนนี้ตึกที่สูงที่สุดในบ้านเราคือตึกมหานคร สูง 314 เมตร รองลงมาเป็นตึกใบหยก 2 สูง 304 เมตร แปลว่า วันแรกเราต้องเดินขึ้นทางสูงอย่างน้อย 3 ตึกใบหยกต่อกัน คิดว่าจะเดินขึ้นไหวไหมครับ หลายคนเห็นแบบนี้ก็พึ่งนึกขึ้นได้ว่า 1000 เมตร ขึ้นทางสูง ถือว่าสูงมากนะครับ แต่ไม่ได้แปลว่าไปไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ขึ้นรวดเดียว เราค่อยๆเดินขึ้นไปเรื่อยๆใช้เวลาทั้งวัน หลายคนก็ไปได้ครับ แต่อยากให้คิดสักนิดหนึ่งและประเมินให้เห็นภาพก่อนว่าเราจะต้องเดินขึ้นสูงประมาณไหน
อีกวิธีหนึ่ง คือเรามักจะเปรียบเทียบกับการเดินขึ้นเขาในเมืองไทย เช่นการขึ้นภูกระดึง เราจะต้องเดินเป็นระยะทาง 5.5 กิโลเมตร จากด้านล่างถึงหลังแป ความสูงที่ต้องเดินขึ้นประมาณ 1000 เมตร ซึ่งใกล้เคียงกับ Kashmir Great lake trekking ในวันที่2 ที่จะเดิน
ดังนั้นหมอเรามักจะถามว่าเคยขึ้นภูกระดึงไหม แต่คิดว่าขึ้นภูกระดึงไม่ไหว ก็อย่าเพิ่งไป Kashmir Great Lake เลย เพราะจะลำบากกว่านั้น เพราะแม้ความสูงในการเดินขึ้นจะเท่าๆกัน แต่สำหรับภูกระดึง ขึ้นไปถึงข้างบนแล้ว ส่วนใหญ่ต่อจากนั้นเป็นการเดินทางราบที่ไม่ไกลมาก ไม่มีเดินขึ้นเขาอีก แต่มาดู Great Lake ครับ วันต่อไปต้องเดินอีก 13 km มีช่วงที่ขึ้นเขาด้วยถึงประมาณ 600 เมตร เราจะเดินไหวไหม ต้องพิจารณาตัวเองดูดีๆครับ
มิติที่ 3 High altitude illness และ ความเบาบางของออกซิเจน
ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญครับ ที่ทำให้ใครหลายคนตกม้าตายมาแล้ว โดยเฉพาะนักกีฬาที่แข็งแรงๆ สามารถวิ่งได้เป็นทางไกลๆ อาจคิดว่าเดิน trekking ไม่กี่กม.น่าจะหมูๆ แต่ต้องระวังนิดนะครับว่าเพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ออกซิเจนต่ำมาก่อน และแต่ละคนจะปรับตัวกับระดับออกซิเจนที่ต่ำได้ไม่เท่ากัน บางคนแข็งแรงดีแต่มีอาการของ high altitude sickness ที่ความสูงต่ำกว่าก็ได้
ลองกลับมาดูตัวอย่างของเราครับ ในวันที่ 3 เราจะอยู่ที่ 3505 เมตร ซึ่งระดับออกซิเจนตรงนั้นจะมีค่าประมาณแค่ 66% ของระดับน้ำทะเล แปลว่าอะไรครับ ออกซิเจนในบรรยากาศเบาบางลงมากนะครับ คนปกติบางคนอาจเริ่มมีอาการที่ 3500 เมตรอยู่แล้ว จะเดินหรือไม่เดินก็ปวดศีรษะ เหนื่อยบ้าง แล้วลองคิดดูครับ วันนั้นเราจะต้องเดินอีก 10 กม. ไหวไหม บางคนลืมคิดไปบอกว่าสบายมากแต่ต้องเน้นนะครับว่าเดิน 10กม.ในบรรยากาศที่มีออกซิเจนแค่ 66%จากที่เคยได้รับ จะไหวไหม ตรงนี้ยากเหมือนกันครับ เพราะมีรายละเอียดมาก ใครยังไม่เคยอ่านเรื่อง High altitude sickness ของให้ลองไปอ่านข้อมูลต่างๆดูก่อนครับ
- Altitude sickness #1 โรคที่ต้องระวังในพื้นที่สูง
- Altitude sickness #2 อาการและการป้องกัน
- Altitude sickness #3 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับยา Diamox (Acetazolamide)
- ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเกี่ยวกับการป้องกันโรคแพ้ความสูง #1
- ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเกี่ยวกับการป้องกันโรคแพ้ความสูง #2
บทความนี้อาจจะยาวสักหน่อย แต่ก็สำคัญและอยากให้เห็นภาพว่า การไป trekking ต้องประเมินดีๆครับ อย่างน้อยต้องประเมินใน 3 มิตินี้ จริงๆยังมีรายละเอียดอีกพอสมควร โดยเฉพาะนักเดินทางที่มีโรคประจำตัว หรือมีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงเช่น ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์จะไปเที่ยวแบบ trekking ในที่สูงได้หรือไม่ ไว้มีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังทีหลังครับ