ช่วงนี้เข้าใกล้วันหยุดยาวช่วงเมษายนเข้ามาทุกทีครับ หลายๆท่านเริ่มวางแผนการท่องเที่ยวกันไว้แล้ว และหนึ่งในกิจกรรมที่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย ก็คือ การเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่สูง (High Altitude travel) ซึ่งช่วงนี้ก็จะเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของหลายๆที่ ไม่ว่าจะเป็นการเดินเขา (Trekking) ในประเทศเนปาล, การเดินทางไปพื้นที่สูงในประเทศจีน อย่างแชงกรีล่า (Shangri-la) หรือ ย่าติง (Yading) หรือ เลห์-ลาดักห์ (Leh-Ladakh) ในประเทศอินเดีย เป็นต้น
หลายๆคนเริ่มมีความกังวลและหาข้อมูลจากหลายๆแหล่งเกี่ยวกับการเดินทางไปในพื้นที่สูงและอาการของโรคแพ้ความสูง (Acute Mountain Sickness) รวมไปถึงการป้องกันโดยวิธีต่างๆ และหลายคนเลือกมาปรึกษาที่คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง (Travel Clinic) ทำให้ช่วงนี้มีคนเข้ามาขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคแพ้ความสูงกันเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม พบว่านักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งยังมีความเข้าใจผิดบางอย่างเกี่ยวกับอาการแพ้ความสูงและการป้องกันอยู่เป็นจำนวนมาก ใครยังไม่เคยอ่านข้อมูลทั่วไปเรื่อง Altitude sickness แนะนำให้อ่านก่อนครับ
วันนี้เรามาดูกันครับว่า มีอะไรบ้างที่พวกเราอาจจะยังเข้าใจผิดอยู่เกี่ยวกับการป้องกันโรคแพ้ความสูง
1. “กินยา Diamox (Acetazolamide) แล้วจะไม่เกิดอาการแพ้ความสูง”
จากประสบการณ์ในคลินิกนักท่องเที่ยว โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน พบว่าข้อนี้ เป็นความเข้าใจผิดที่พบบ่อยที่สุดครับ เพราะพวกเรามักจะคิดว่า ไปที่สูงทุกครั้งจะต้องกินยา Diamox ทุกครั้งและเมื่อกินแล้วก็จะไม่เกิดอาการแพ้ความสูงเลย ทำให้หลายๆครั้งที่นักท่องเที่ยวเข้ามาปรึกษาที่คลินิกฯ มักจะเข้ามาขอยา Diamox เพียงอย่างเดียวหรือหาซื้อเองตามร้านขายยา และใช้ยากันเกินความจำเป็น
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การจะดูว่าเราจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ความสูงมีมากน้อยขนาดไหน เราต้องกลับมาดูที่แผนการเดินทางของเราเป็นหลักเลยครับ ถ้าเอาตามทฤษฎี การป้องกันการเกิดอาการแพ้ความสูงที่ดีที่สุดคือการวางแผนการเดินทาง โดยค่อยๆ ไต่ระดับความสูง (Gradual ascent) เพื่อป้องกันไม่ให้เราขึ้นสูงเกินไป (Too high) และเร็วเกินไป (Too fast) เพื่อให้ร่างกายของเราได้มีเวลาปรับตัวเข้ากับระดับความดันอากาศที่ลดลงที่ความสูงนั้นๆ หรือที่เรียกว่า Acclimatization ครับ ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่า จะไปขึ้นที่สูงทุกครั้ง ต้องกินยา Diamox ทุกครั้ง ถ้าเราค่อยๆไป ไปช้าๆ ร่างกายปรับตัวได้ ยาอาจจะไม่จำเป็นเลยก็ได้ ดังนั้นต้องพิจารณาหลายๆ ปัจจัยครับ
โดยทั่วไป ในกรณีการเดินเขา เรามักจะแนะนำว่าไม่ควรเดินขึ้นสูงมากกว่า 500 เมตรต่อวัน และ ถ้าหากแผนการเดินทางของเราเดินขึ้นไปสูงมากกว่า 1,000 เมตรต่อวันควรที่จะมีวันพักอีก 1 วันเพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวด้วยครับ
ถึงแม้ยา Diamox จะสามารถช่วยทำให้ร่างกายเราสามารถปรับตัวได้ดีขึ้นในขณะขึ้นที่สูง แต่การใช้อย่างไม่ถูกต้องและไม่จำเป็น นอกจากจะป้องกันอาการแพ้ความสูงไม่ได้แล้ว ยังจะเกิดผลข้างเคียงจากยามากกว่าเสียด้วยซ้ำ
เป้าหมายสำคัญของการป้องกันอาการแพ้ความสูง ไม่ว่าจะเป็นการค่อยๆไต่ความสูง หรือการใช้ยาในการป้องกัน ก็เพื่อช่วยให้ร่างกายของเราค่อยๆ ปรับตัวตามระดับความสูงและระดับความดันอากาศที่ลดลงครับ แต่เราอาจจะหลีกเลี่ยงอาการเล็กๆน้อยๆของการแพ้ความสูงไม่ได้ (ซึ่งได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ นอนไม่หลับ) ถึงแม้เราจะวางแผนอย่างดีก็ตาม แต่การวางแผนการเดินทางที่ดีจะช่วยทำให้อาการดังกล่าวไม่พัฒนารุนแรงขึ้นจนถึงขั้นอันตรายต่อชีวิตครับ
ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่จะเดินขึ้นไปที่สูงจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับอาการแพ้ความสูง รู้ข้อจำกัดของตัวเอง วางแผนการเดินทางอย่างเหมาะสม และใช้ยาป้องกันอย่างถูกต้องด้วยครับ และขอให้ระลึกไว้เสมอครับว่า Diamox ไม่ใช่ยาที่กินแล้วจะป้องกันอาการได้ 100 % หรือกินแล้วจะทำให้ขึ้นที่สูงได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องพัก อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับยา Diamox
2. “เพื่อนเคยไปที่สูงมาก่อนแล้ว บอกว่าไม่เสี่ยงมาก ไม่เกิดอาการแพ้ความสูงหรอก”
เรื่องอาการแพ้ความสูง ถ้าพูดกันตรงๆ ก็คือเป็นเรื่องของตัวใครตัวมันครับ เราไม่สามารถใช้ประสบการณ์การขึ้นที่สูงของคนอื่นมาประเมินความเสี่ยงของเราเองว่าจะเกิดอาการแพ้ความสูงหรือไม่ เพราะแต่ละคนมีความสามารถในการปรับตัว (acclimatization) กับระดับความสูงและระดับความดันอากาศที่ลดลงได้ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ณ ความสูงที่จุดหนึ่ง เพื่อนเราอาจจะใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงในการปรับกับความสูงได้แล้ว และไม่มีอาการอะไรเลย แต่ในขณะที่ตัวเราเองอาจจะต้องใช้เวลาเป็นวัน ในการปรับตัวกับความสูงเดียวกัน เป็นต้น
ความแตกต่างกันนี้เอง ทำให้ยากในทางปฏิบัติครับ คือ ไม่มีใครทราบว่า ใครจะมีอาการแพ้ความสูงบ้าง และแต่ละคนต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหนในการปรับตัว อย่างไรก็ดี แพทย์จะใช้ปัจจัยหลายๆอย่างในการช่วยพิจารณาความเสี่ยงครับ ตั้งแต่แผนการเดินทาง ว่าขึ้นเร็ว ขึ้นช้าขึ้นสูงแค่ไหน (ซึ่งได้กล่าวไปแล้วในข้อแรก)
และอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือประสบการณ์การขึ้นที่สูงของตัวเองที่ผ่านมา ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าว อาจช่วยคาดการณ์ได้ เช่น ถ้าเราเคยผ่านที่ระดับความสูง 3000 เมตรมาแล้วโดยไม่มีอาการ ครั้งนี้ก็น่าจะไม่มีอาการเช่นกันถ้าไปความสูงระดับเดิมและไม่ได้ไปเร็วกว่าเดิม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บางคนอาจมีอาการที่ความสูง 3000 เมตรแล้วก็ได้โดยที่เราไม่มีอาการ
ดังนั้นการพิจารณาความเสี่ยงต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลครับ จะพิจารณาให้เผื่อคนอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นในแผนการเดินทางเดียวกัน แต่ละคนอาจจะเริ่มใช้ยาป้องกันอาการแพ้ความสูงไม่เหมือนกันก็ได้ ด้วยเหตุนี้บางครั้งนักท่องเที่ยวมาปรึกษาที่คลินิกนักท่องเที่ยวของเรา แต่ได้คำแนะนำที่ไม่เหมือนกัน บางคนแพทย์อาจจะแนะนำให้กินยา บางคนอาจจะไม่ต้องกินยา นอกจากนี้แพทย์ยังไม่สามารถจ่ายยาเผื่อเพื่อนคนอื่นๆได้ครับ
ยังเหลืออีกหลายข้อนะครับ ไว้จะค่อยๆมาเล่าให้ฟังในวันต่อๆไปครับ