มาลาเรีย: ความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้ามเวลาไปเที่ยว

พอพูดถึงโรคมาลาเรีย หลายคนอาจทำหน้างงๆ ไม่ค่อยคุ้นเท่าไร ซึ่งก็ไม่แปลกครับ เพราะปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคนี้ลดลงมาก อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวไม่ควรมองข้ามครับ เพราะถ้าละเลย ไม่ใส่ใจ เราอาจเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงของโรค และติดโรคกลับมาโดยไม่รู้ตัว และยิ่งไม่ได้ไปหาหมอรักษา โรคนี้จะทำให้เกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว

วันนี้เราจะมาคุยกันเรื่องโรคนี้ครับว่าทำไมถึงมีความสำคัญในนักท่องเที่ยว

1. โรคมาลาเรียคืออะไร ติดต่ออย่างไร และร้ายแรงไหม 

โรคมาลาเรียเกิดจากเชื้อโปรโตซัวชนิดหนึ่งครับ (Plasmodium spp.) เชื้อนี้จะอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดแดง คนเราติดเชื้อมาลาเรียได้ถ้าถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัดครับ เมื่อถูกกัดแล้ว เชื้อจะเข้าสู่ร่างกาย และอยู่ในระยะฟักตัวซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ละคน ส่วนใหญ่จะประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือน หลังจากนั้นผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ โดยมักจะเป็นไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาการไข้อาจจะเป็นทุกวันหรือวันเว้นวัน วันเว้นสองวันก็ได้

ถ้าไม่ได้รักษา อาการจะรุนแรงขึ้น มีตาเหลืองตัวเหลือง ไตวาย เกิดภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง และทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นเราควรรู้ วิธีและหลักการป้องกันโรคมาลาเรีย

2. ประเทศไทยยังมีมาลาเรียอยู่ไหม

แม้ว่าปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคมาลาเรียจะลดลงมาก แต่ประเทศไทยยังมีโรคมาลาเรียอยู่ครับ โดยอยู่เฉพาะในพื้นที่ป่าเขา น้ำตก โดยเฉพาะในบริเวณตะเข็บชายแดน แถบจังหวัดกาญจนบุรี ตาก ราชบุรี เพชรบุรี อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ฯลฯ โดยทั่วไปจะแนะนำว่า ถ้าจะเข้าป่าให้ทายากันยุงครับ โดยเฉพาะในกลางคืน ตั้งแต่หัวค่ำเป็นต้นไปถึงก่อนสว่าง เพราะยุงก้นปล่องมักออกหากินในเวลากลางคืนครับ

เราไม่พบโรคมาลาเรียในพื้นที่เขตเมือง ดังนั้นถ้าเราไปเที่ยวจังหวัดเหล่านี้แต่อยู่ในเขตเมืองตลอดก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเข้าป่าก็ต้องระวังไว้บ้างครับ เพราะบางจุดเราอาจจะลืม หรือมองข้ามไปไม่คิดว่าจะมีโรคมาลาเรีย เช่น การเที่ยวในแถบอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี หรืออำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หรือแม้แต่ในน้ำตกป่าละอูในเขตอำเภอหัวหิน ใครไปแถวนี้อย่าลืมทายากันยุงนะครับ และถ้ามีไข้ต้องรีบไปพบแพทย์

นำตกป่าละอู

นำ้ตกป่าละอู อำเภอหัวหิน

3. ถ้าเที่ยวต่างประเทศล่ะ มีประเทศไหนที่ยังมีโรคมาลาเรียบ้าง

โรคมาลาเรียยังมีอยู่ในทวีปแอฟริกา อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลองดูแผนที่ด้านล่างที่แสดงพื้นที่ระบาดของมาลาเรียดูครับ โดยพื้นที่สีแดงเข้มจะมีความเสี่ยงสูงกว่าพื้นที่สีแดงอ่อน ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปในพื้นที่ที่มีสีแดงให้ระวังเรื่องมาลาเรียไว้บ้างครับ 

มีข้อสังเกตุและข้อควรระวังบ้างครับในการดูแผนที่มาลาเรีย คือแผนที่นี้เป็นแผนที่ระดับโลก ซึ่งไม่ได้ให้รายละเอียดถึงความเสี่ยงในระดับพื้นที่ ลองดูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือแถบบ้านเราก็ได้ครับ  จะเห็นว่าบางพื้นที่ดูมีสีแดงเข้มไปหมด เช่นประเทศกัมพูชา ลาว

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การท่องเที่ยวในประเทศเหล่านั้น โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองหรือในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ เช่น นครวัด นครธม เวียงจันทร์ หลวงพระบาง ไม่ต้องกังวลเรื่องมาลาเรียครับ เพราะไม่พบการระบาดในแถบตัวเมืองดังกล่าว แต่ถ้าไปเที่ยวในเขตชนบท ยังต้องระวังโรคมาลาเรีย

 

Global malaria map

 

4. ความเสี่ยงในการติดโรคมาลาเรียในแต่ละประเทศเหมือนกันไหม

ความเสี่ยงในการติดเชื้อมาลาเรียในแต่ประเทศหรือในแต่ละภูมิภาคไม่เท่ากันครับ โอกาสติดเชื้อในการเที่ยวป่าในประเทศไทยหรือประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศในทวีปอื่น โดยโอกาสติดจะสูงมากในประเทศแถบแอฟริกา ปาปัว ปาปัวนิวกินี และแถบหมู่เกาะแปซิฟิกตอนใต้ 

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างที่ต้องเน้นคือ มาลาเรียในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างง่ายๆครับ เรามักจะเตือนกันว่าให้ระวังโรคมาลาเรียเวลาเข้าป่า ซึ่งคำพูดนี้ถูกต้องและเป็นความจริงในแถบประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในบางพื้นที่เช่นในแอฟริกา ไม่จำเป็นต้องเป็นป่าก็ติดมาลาเรียได้ครับ หรือแม้แต่ในประเทศอินเดียเอง ยุงที่นำมาลาเรีย สามารถอาศัยอยู่ในเมืองได้ ดังนั้นคนไปประเทศอินเดียต้องระวังโรคมาลาเรียไว้ด้วย แม้ว่าจะไปเที่ยวในเขตเมือง

ลองดูรูปข้างล่างครับ 

อุทยานเซเรนเกติ ประเทศแทนซาเนีย

รูปข้างบนเป็นกิจกรรมเที่ยวซาฟารี (Game Drive) ในช่วงเช้ามืดในอุทยานเซเรนเกติ ลองดูพื้นที่นะครับ ดูไม่ค่อยเหมือนป่าแถบบ้านเราใช่ไหมครับ ป่าแถบบ้านเราที่เราคุ้นเคยจะเป็นป่าดิบชื้น (Tropical rain forest) แต่พื้นที่ในรูปข้างบนเป็นภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา ไม่เหมือนป่าบ้านเรา แต่เชื่อไหมครับ พื้นที่แบบนี้มีความเสี่ยงในการติดโรคมาลาเรียมากกว่าบ้านเรามาก ดังนั้นต้องระวังดีๆ

5. บริเวณไหนที่คนไทยไปเที่ยวบ่อยๆ แต่ไม่ค่อยรู้ว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อโรคมาลาเรีย

ตารางด้านล่างแสดงสถานที่ท่องเที่ยวบางส่วนที่คนไทยนิยมไปเที่ยว ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีความเสี่ยงต่อโรคมาลาเรีย แต่เราอาจจะละเลย แต่ต้องย้ำตรงนี้ครับว่า การที่พื้นที่นั้นมีความเสี่ยงต่อโรคมาลาเรีย ไม่ได้แปลว่าไปเที่ยวไม่ได้ ไปได้ครับ แค่ต้องระวัง และรู้วิธีป้องกันมาลาเรีย และระลึกไว้เสมอว่า ถ้ามีไข้หลังจากกลับจากการท่องเที่ยวต้องไปพบแพทย์ และบอกประวัติการเดินทางเสมอ

สถานที่ท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงต่อโรคมาลาเรีย ประเทศ
พื้นที่ป่าเขาแถบ อำเภอสวนผึ้ง อำเภอแก่งกระจาน อำเภอกัณฑลักษณ์ ฯลฯ ไทย
หมู่เกาะทางตอนใต้ หมู่เกาะนาวโอพี ประเทศพม่า  พม่า
เกาะปาปัวนิวกีนี ปาปัวนิวกีนี
เกาะบอร์เนียว มาเลเซีย/อินโดนีเซีย
เมืองนิวเดลี อัครา มุมไบ และพื้นที่ส่วนใหญ่ของอินเดียที่สูงน้อยกว่า 2000 เมตร อินเดีย
พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเอธิโอเปีย ที่สูงน้อยกว่า 2000 เมตร เอธิโอเปีย
อุทยานเซเรนเกติ (Serengeti National Park)  แทนซาเนีย
อุทยานมาไซมาร่า (Masai Mara) เคนย่า
อุทยานครูเกอร์ (Kruger National park) แอฟริกาใต้
ลุ่มแม่น้ำอเมซอน เมืองมาเนาส์ Manaus  บราซิล

6. จะรู้ได้อย่างไรว่าประเทศไหนมีโรคมาลาเรียบ้าง Search ดูได้จากที่ไหน

แนะนำให้ไปที่ website ของ US Centers for Disease Control and Prevention (US CDC) ครับ ในหน้านี้ ซึ่งเราสามารถเลือกชื่อประเทศที่จะไปได้ หลังจากนั้นจะมีข้อมูลบอกว่าประเทศนั้นๆมีความเสี่ยงมาลาเรียหรือไม่ เสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ดังตัวอย่างด้านล่างจะเห็นว่าเป็นข้อมูลของประเทศไนจีเรีย ซึ่งข้อมูลในนั้นจะระบุไว้ชัดเจนว่า พื้นที่ที่เสี่ยงต่อโรคมาลาเรียคือทุกพื้นที่ (Areas with malaria:All) ดังนั้นการไปประเทศนี้ไม่ว่าตรงไหน ต้องระวังโรคมาลาเรียเสมอ

 

7. มีวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียไหม

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียครับ แม้ว่าจะมีการค้นคว้าวิจัยอยู่ แต่ประสิทธิภาพยังไม่ดีนัก จึงยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ในนักท่องเที่ยว 

8. ถ้าจะเข้าพื้นที่เสี่ยงต้องกินยาป้องกันมาลาเรียไหม

มีหลักการง่ายๆอย่างนี้ครับ 

  • การป้องกันมาลาเรียที่ดีที่สุดคือการป้องกันยุง ถ้ามีไข้หลังเข้าพื้นที่เสี่ยงให้รีบพบแพทย์ และตรวจหาเชื้อมาลาเรียเสมอ
  • การเที่ยวป่าในประเทศไทย ไม่แนะนำให้กินยาป้องกันมาลาเรีย อ่านรายละเอียดที่นี่ 
  • โดยทั่วไปจะไม่แนะนำให้กินยาป้องกันมาลาเรีย ถ้าเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงต่ำ เช่น ประเทศในแถบเอเซีย อเมริกาใต้ แต่ถ้าไปพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงเช่น แถบแอฟริกา หรือปาปัวนิวกินี แนะนำให้พบแพทย์
  • การพิจารณาจ่ายยาป้องกันมาลาเรีย ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆมากมาย เช่น จะไปที่ไหน ไปเมืองอะไร ไปกี่วัน ไปทำอะไร และคนที่ไปมีสุขภาพอย่างไร อายุเท่าไร ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องพบแพทย์ครับ แพทย์จะทำการประเมินความเสี่ยง และพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อยาป้องกันมาลาเรียกินเอง

เรื่องน่ารู้เพิ่มเติม