“คุณหมอครับ จะไปญี่ปุ่นช่วงปลายเดือนนี้ ต้องฉีดวัคซีนหัดเยอรมันไหมครับ”
ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีคำถามแบบนี้บ่อยมากครับที่คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวฯ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน เนื่องจากมีข่าวการระบาดของโรคนี้ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งจะเข้ามาเพื่อขอฉีดวัคซีนเลย เพราะกลัวติด บางส่วนก็มาหาหมอแต่ไม่ได้อยากฉีดวัคซีน จะขอมาปรึกษาเฉยๆ หรือบางคนไม่แน่ใจว่าจะฉีดดีไหม บางส่วนก็คิดว่าไม่เป็นไร น่าจะไปได้ แต่คนทางบ้านบังคับให้มาฉีด ฯลฯ
วันนี้จะลองมาคุยและตอบคำถามเรื่องนี้ดูครับ
1. โรคหัดเยอรมันเป็นอย่างไร โรครุนแรงมากไหม ทำให้ตายได้ไหม
จริงๆโรคนี้เป็นโรคที่มีมานานแล้วครับ ทำให้เกิดไข้ออกผื่น โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ติดต่อโดยละอองฝอยของคนที่ติดเชื้อ โดยการใกล้ชิด หรือไอจามรดกัน โรคนี้ติดกันง่ายถ้าอยู่ในชุมชนที่มีคนมาก มีการสัมผัสกันใกล้ชิด ลองนึกตามนะครับ ถ้าเราไปญี่ปุ่นแล้วไปเที่ยวในตลาด ที่ชุมนุมชน ขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน ก็จะมีโอกาสเสี่ยงกับโรคนี้มากขึ้น
แต่ไม่ต้องกังวลใจอะไรมากครับ เพราะโรคนี้ส่วนใหญ่แล้วอาการจะไม่รุนแรงเลย เป็นไข้มีผื่นไม่กี่วันก็หายได้เอง ไม่ค่อยมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ อย่างตอนนี้ที่ประเทศญี่ปุ่นมีการระบาดอยู่ มีคนเป็นโรคนี้พันกว่าคน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต
2. อาการของโรคหัดเยอรมันก็ดูไม่รุนแรง แต่ทำไมเราต้องกลัวโรคนี้ด้วย
ดังที่กล่าวมาแล้ว โรคนี้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แต่ที่เรากลัวมากคือ ถ้าหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโรคนี้ขณะท้องอยู่ เขื้อไวรัสจะทำให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะพิการได้ โดยความพิการนี้จะรุนแรง เช่น หูหนวก สมองผิดปกติ เป็นโรคหัวใจ เราเลยไม่ต้องการให้คนท้องติดโรคนี้เลย
ดังนั้นต้องเน้นตรงนี้ครับ คือ ในหญิงตั้งครรภ์หรือกำลังจะตั้งครรภ์ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง
แต่ในประชากรกลุ่มอื่นที่แข็งแรงดี ต่อให้ติดเชื้อหัดเยอรมันมาอาการมักจะไม่รุนแรงหายเองได้ จึงไม่น่าวิตกกังวลจนเกินไป
3. จะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีภูมิคุ้มกันแล้ว หรือเคยฉีดวัคซีนหัดเยอรมันแล้ว
เราต้องพิจารณาหลายอย่างครับ เพราะจริงๆประเทศไทยได้มีการให้วัคซีนในเด็กมานานแล้ว โดยเราเริ่มให้ในเด็กนักเรียนหญิง ชั้น ป.6 ในปี 2529 และปี 2536 ขยายให้ทั้งเด็กชายและเด็กหญิงทั่วประเทศ ดังนั้นแปลว่า
- ผู้หญิง อายุ 44 ปีลงมา น่าจะเคยได้รับวัคซีนนี้แล้ว
- ผู้ชาย อายุ 32 ปีลงมา น่าจะเคยได้รับวัคซีนนี้แล้ว
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า ถ้าดูอายุ ก็พอจะบอกได้คร่าวๆแล้วว่าใครน่าจะได้รับการฉีดวัคซีนตอนเด็กไปแล้ว ซึ่งเวลามาหมอ เรามักจะถามครับว่าตอนเด็กๆพอคุ้นๆไหมว่าที่โรงเรียนมีให้ฉีดวัคซีนไหม ซึ่งส่วนใหญ่จะจำได้ หมอเราก็จะถามต่อว่า แล้วตอนนั้นคุ้นๆไหมว่าได้ฉีด หรือแอบหนีฉีดบ้างไหม เชื่อไหมครับ บางคนจำได้แม่นเลยว่า ผมกลัวมาก หนีฉีดทุกครั้งเลย กลุ่มนี้เราก็จะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจจะไม่ได้รับวัคซีน น่าจะฉีดใหม่ ส่วนเด็กนักเรียนทั่วไป น่าจะได้ฉีดตามกำหนดอยู่แล้ว (อัตราความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนหัดเยอรมันในประเทศไทยสูงถึง 95% ในเด็ก)
4. แล้วถ้าเป็นผู้ใหญ่อายุสัก 50, 60 ปีล่ะ คงไม่เคยได้วัคซีนมาก่อน แปลว่าต้องฉีดวัคซีนใหม่ใช่ไหม
ตรงนี้จะยากนิดหนึ่งครับ จริงอยู่ว่าผู้ใหญ่กลุ่มนี้ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน แต่เชื่อว่าคนกลุ่มนี้น่าจะเคยสัมผัสเชื้อโดยธรรมชาติไปแล้วตั้งแต่เด็ก ซึ่งแปลว่าเป็นหัดเยอรมันไปแล้ว โดยบางทีไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เพราะอาการโรคไม่ชัดเจน ทำให้กลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันไปแล้ว จากข้อมูลในอดีตเชื่อว่าผู้ใหญ่ไทยน่าจะมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้วมากกว่า 80-95% หรือสูงกว่านั้น ดังนั้นคนกลุ่มนี้ ถ้าร่างกายแข็งแรงดีจะไปเที่ยวญี่ป่น และมีความเสี่ยงไม่มาก จึงอาจไม่ต้องฉีดวัคซีนใหม่ อย่างไรก็ดีถ้าไม่แน่ใจคงต้องปรึกษาแพทย์และพิจารณาเป็นรายๆครับ
5. ถ้าไม่แน่ใจว่าเคยฉีดวัคซีนมาแล้วหรือเปล่า หรือตัวเองมีภูมิไหม จะฉีดวัคซีนอีกครั้งได้ไหม
ได้ครับ ไม่ได้มีปัญหา เพราะสมมุติเราเคยได้วัคซีนแล้วหรือมีภูมิอยู่แล้ว การได้วัคซีนใหม่เข้าไปอีกครั้งก็จะเป็นการกระตุ้นภูมิของร่างกาย ทำให้ภูมิสูงขึ้น ซึ่งก็ดี และในปัจจุบันวัคซีนที่เราใช้ในการป้องกันหัดเยอรมัน จะเป็นวัคซีนรวมคือ วัคซีน MMR ป้องกันได้ทั้งหัด หัดเยอรมัน และคางทูม ซึ่งก็ดีจะได้ป้องกันอีก 2 โรคแถมไปด้วย
6. ตรวจเลือดดูได้ไหมว่ามีภูมิคุ้มกันหรือยัง ถ้ามีแล้วจะได้ไม่ต้องฉีด
ตรวจได้ครับ แต่ส่วนใหญ่หมอจะไม่แนะนำให้ตรวจ เพราะต้องเสียค่าตรวจเลือด (ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนประมาณ 500 บาท ) และต้องรอประมาณ 5-7 วันกว่าจะได้ผล และถ้าผลออกมาไม่มีภูมิก็ต้องฉีดวัคซีนอยู่ดี บางครั้งการฉีดไปใหม่เลยจะดีกว่า
7. แล้วจริงๆไปญี่ปุ่นช่วงนี้ ต้องฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันก่อนไปไหม
ไม่ถึงขนาด”ต้องฉีด”ครับ เพราะไม่ได้เป็นการบังคับ แต่แนะนำว่า “ควรฉีด” ในนักท่องเที่ยวบางกลุ่มโดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่มีภูมิคุ้มกันอยู่ก่อน ถ้าฉีดได้ก็ดี โดยแนะนำให้พบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเดินทาง
เวลามาพบแพทย์จริงๆ หมอเราจะพูดคุย และประเมินอีกครั้งครับ จะได้รู้ว่านักท่องเที่ยวมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับตัวโรคหรือไม่ โรคนี้เป็นอย่างไร รุนแรงแค่ไหน ป้องกันได้อย่างไร มีความกังวลหรือกลัวต่อโรคมาแค่ไหน ซึ่งมุมมองต่อโรค และความเสี่ยงของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันครับ ดังนั้นแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางคนฟังข้อมูลแล้วขอฉีดก็มี บางคนฟังๆดูแล้วอาจจะเฉยๆ เข้าใจ และไม่กลัวแล้ว และไม่ขอฉีดก็ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลครับ
นอกจากนี้เวลาพบแพทย์ที่คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวฯ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน แพทย์จะไม่ได้ประเมินเฉพาะเรื่องวัคซีนหัดเยอรมันเท่านั้น แต่หมอเราจะประเมินวัคซีนอื่นๆด้วยที่สมควรได้รับ ซึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เช่น บางคนคุยๆเสร็จไม่ได้ฉีดวัคซีนอะไรเลยก็ได้ บางคนอาจได้รับวัคซีน MMR อย่างเดียว บางคนหมออาจจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส หรือไข้สมองอักเสบไปด้วยเลย หรือในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากหน่อย แพทย์อาจไม่ได้ให้ฉีดแนะนำวัคซีนหัดเยอรมันด้วยซำ้ แต่แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ ขั้นตอนตรงนี้เป็นเรื่องของการให้คำปรึกษาก่อนการเดินทางครับ
8. ถ้ากำลังจะเดินทางอยู่แล้ว มีเวลาเหลือไม่ถึง 2 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนได้ไหม
จริงๆตัวเลข 2 สัปดาห์คือระยะเวลาโดยประมาณที่ร่างกายใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกัน ถ้าฉีดแล้วเดินทางเลยภูมิคุ้มกันอาจจะไม่ถึงระดับที่ป้องกันได้ ดังนั้นประสิทธิภาพอาจจะได้ไม่ดีนัก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าฉีดไม่ได้ครับ สามารถฉีดได้เหมือนกัน
9. วัคซีนป้องกันหัดเยอรมันที่ใช้อยู่เป็นอย่างไร ปลอดภัยแค่ไหน มีข้อห้ามอะไรไหม
ปัจจุบันประเทศไทยใช้ วัคซีนรวม MMR (Mump-Measles-Rubella) ซึ่งป้องกันได้ทั้งหัด หัดเยอรมัน และคางทูม แทนวัคซีนหัดเยอรมันอย่างเดียว วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนที่ดี มีประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงพบน้อยและส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อาจจะมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะ เจ็บบริเวณที่ฉีด ฯลฯ ส่วนผลข้างเคียงที่รุนแรงพบน้อยมาก
วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (Live attenuated vaccine) จึงห้ามให้ในบุคคลต่อไปนี้ เช่น สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อ HIV เป็นโรคมะเร็ง ได้รับยาสเตรียรอยด์ ยา Chemotherapy ยากดภูมิคุ้มกัน ฯลฯ และห้ามให้ในผู้ที่เคยแพ้วัคซีนนี้
สำหรับสตรีวัยเจริญพันธ์ุเมื่อได้รับวัคซีนนี้แล้ว ต้องคุมกำเนิด เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือนหลังฉีดวัคซีน
คำแนะนำอื่นๆเรื่องหัดเยอรมันกับการเดินทางเที่ยวญี่ปุ่น
- ผู้ที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่น ควรสังเกตอาการ ถ้ามีอาการไข้ ผื่นขึ้น ภายใน 21 วันควรไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางเสมอ และช่วงหลังกลับมาควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับหญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุน้อยกว่า 9 เดือน
- ควรติดตามข่าวสารการระบาดของโรคอยู่เป็นระยะ โดยติดตามได้ที่ website ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หรือที่ US CDC Travel Notice