เรื่องน่ารู้ และคำถามที่ถามบ่อยเกี่ยวกับวัคซีน HPV (วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก)

ปัจจุบันที่คลินิกนักท่องเที่ยว โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มีผู้มาขอรับวัคซีน HPV (Human Papilloma Virus) กันมากขึ้น หลายคนยังงงๆเกี่ยวกับวัคซีนตัวนี้ และมักจะมาถามหมอที่เขตร้อนว่าฉีดวัคซีนตัวนี้ดีไหม เพราะเห็นราคาแพงมาก และฉีดแบบ 4 สายพันธุ์หรือ 9 สายพันธุ์ดีกว่ากัน และฉีดตอนนี้สายไปไหมหรือฉีดตอนนี้อายุมากไปไหม ฯลฯ คำถามพวกนี้ดูเหมือนไม่ยาก แต่เชื่อไหมครับว่าการจะเข้าใจเรื่องนี้จริงๆไม่ง่าย เพราะมีรายละเอียดพอสมควร คงต้องค่อยๆเล่า และมาดูกันเป็นข้อๆครับ น่าจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น

1. วัคซีน HPV นี้ป้องกันอะไร ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ไหม

จริงๆแล้ววัคซีนถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค ดังนั้นวัคซีนป้องกัน HPV ก็ใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV นั่นเอง ซึ่งเชื้อ HPV มีชื่อเต็มๆว่า Human Papilloma Virus สามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ และถ้ามีการติดเชื้อนี้เป็นเวลานานเป็น 5 ปี 10 ปีขึ้นไป อาจทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกตามมาได้

ดังนั้นถ้าจะพูดจริงๆ ก็คือ วัคซีน HPV ด้วยตัวของมันเองไม่ได้ป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกตรงๆหรอกครับ แต่วัคซีนนี้ป้องกันการติดเชื้อ HPV เพราะเรากลัวว่า ถ้ามีการติดเชื้อ HPV ไปนานๆในผู้หญฺิง อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก และทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกขึ้นมาได้ ดังนั้นโดยทั่วไปบางคนเลยเรียกวัคซีน HPV นี้ว่าเป็นวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจริงๆก็ไม่ผิดนัก เพราะวัคซีนนี้ก็สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้นั่นเอง

อย่างไรก็ตามมีข้อควรรู้ตรงนี้อีก 2-3 อย่างครับ

  • วัคซีนทุกชนิดจะได้ผลดี ถ้าเราฉีดก่อนการติดเชื้อ แต่ถ้ามีการติดเชื้อไปแล้ว การฉีดวัคซีนย่อมไม่ได้ผล ซึ่งตรงนี้ก็สำคัญครับ เพราะการติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีอาการใดๆ บางคนเท่านั้นจะเป็นหูดหงอนไก่  แต่เชื้อนั้นจะอยู่ที่เยื่อบุปากมดลูกเป็นเวลานาน ซึ่งมีเพียงบางคนเท่านั้นที่เชื้อจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์บริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดเป็นมะเร็งขึ้นมา แปลว่าบางคนอาจจะติดเชื้อไปแล้ว โดยที่ไม่มีอาการ และไม่รู้ตัวเลยก็ได้ และคนๆนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นมะเร็งปากมดลูกเสมอไป แม้ว่าจะติดเชื้อ HPV ไปแล้วเป็นเวลานาน
  • การติดเชื้อ HPV ไม่มียารักษาที่เฉพาะครับ ส่วนใหญ่ร่างกายจะสามารถต่อต้านเชื้อได้ โดยไม่เกิดเป็นหูดขึ้นมา อย่างไรก็ตามเชื้อนั้นจะอยู่ที่ปากมดลูกไปตลอด ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ แต่ไม่ต้องกังวลไปครับ อย่างที่กล่าวมาแล้ว ไม่ได้แปลว่าผู้หญิงทุกคนที่ติดเชื้อ HPV ไปแล้วจะเป็นมะเร็งปากมดลูกทุกราย
  • เชื้อไวรัส HPV มีหลายสายพันธุ์มาก และไม่ใช่ทุกสายพันธุ์จะก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก สายพันธุ์ที่พบบ่อยว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกที่พบบ่อยคือ สายพันธุ์ 16,18 

2. เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเคยติดเชื้อ HPV มาแล้ว 

ตรงนี้จะยากนิดหนึ่งครับ เพราะอย่างที่กล่าวมาในข้อที่แล้วคือ การติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเลย ดังนั้นการไม่เคยเป็นหูดที่อวัยวะเพศ ไม่ได้แปลว่าไม่เคยมีการติดเชื้อ HPV เสมอไป อย่างไรก็ตามเนื่องจากโรค HPV เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นในเด็ก หรือในผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เลย ย่อมไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV

แต่สำหรับผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ย่อมมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ HPV ความเสี่ยงในการติดเชื้อจะยิ่งสูง ถ้ามีเพศสัมพันธ์กับหลายคน ซึ่งถ้าอยากรู้จริงๆว่าเราเคยติดเชื้อมาหรือยัง สามารถทำได้โดยการไปพบแพทย์เพื่อตรวจครับ แพทย์จะทำการตรวจภายใน และส่งตรวจ HPV DNA เพื่อดูว่าเคยมีการติดเชื้อมาหรือยัง และติดเชื้อสายพันธ์ุไหน ซึ่งผลการตรวจจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนเพื่อป้องกัน และประเมินความคุ้มค่าในการฉีดวัคซีน เพราะอย่างที่กล่าว ถ้าติดเชื้อ HPV ไปหลายชนิดแล้ว ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนจะมีน้อยกว่าคนที่ไม่เคยติดเชื้อเลย อย่างไรก็ตามก่อนการตรวจ HPV DNA มีราคาแพงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนครับ

3. จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนฉีดวัคซีนหรือไม่

สำหรับที่คลินิกนักท่องเที่ยว โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนแล้วส่วนใหญ่จะไม่แนะนำให้ตรวจครับ เนื่องจากการตรวจมีความยุ่งยาก มีราคาสูง  แต่แพทย์จะประเมินความเสี่ยงว่าเคยมีการติดเชื้อ HPV หรือไม่ ซึ่งแพทย์เราจะซักประวัติ เช่น ถ้าเป็นเด็กหรือเป็นผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ก็เชื่อได้ว่าน่าจะไม่เคยติดเชื้อ HPV กลุ่มนี้ไม่ต้องตรวจครับ และแนะนำให้ฉีดวัคซีนได้เลย

แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีเพศสัมพันธ์มาแล้ว กลุ่มนี้อาจติดเชื้อ HPV มาแล้ว แพทย์จะพิจารณาโดยดูจากอายุ ความเสี่ยงในการที่ได้รับเชื้อมาแล้ว และส่วนใหญ่แพทย์จะไม่ได้แนะนำให้ตรวจหา HPV ก่อนครับ เพราะการตรวจมีค่าใช้จ่ายสูง และการแม้ติดเชื้อไปแล้วการฉีดวัคซีนยังมีประโยชน์ แบบนี้ในหลายกรณีแพทย์จะแนะนำให้ฉีดไปเลย แต่ในบางกรณี โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมาก มีคู่นอนหลายคน บางครั้งแพทย์จะแนะนำให้ตรวจภายใน และทำ Pap’s smear +/-  HPV test ก่อน คงต้องดูเป็นรายกรณีไปครับ 

4. ถ้ามีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว หรือมีสามีแล้ว จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกัน HPV หรือไม่

อย่างที่กล่าวมาแล้วครับ การฉีดวัคซีนจะให้ผลดี ถ้าไม่มีการติดเชื้อ HPV มาก่อน นี่ก็เป็นสาเหตุว่าทำไมเราถึงแนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV ในเด็กผู้หญิงอายุน้อยๆ นั่นคือเราฉีดเพื่อป้องกันก่อนที่จะถึงวัยที่มีเพศสัมพันธ์นั่นเอง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคนที่มีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว จะฉีดไม่ได้ จริงๆสามารถฉีดได้ครับ แต่ประโยชน์อาจจะไม่มาก ถ้ามีการติดเชื้อ HPV ไปบ้างแล้ว ขึ้นกับชนิดของเชื้อ HPV ที่ติดไปแล้ว และความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ HPV สายพันธ์อื่นเพิ่มเติม ซึ่งตรงนี้อาจจะเข้าใจยากนิดหนึ่งครับ ขอยกตัวอย่างเป็นเคสๆ เพื่อความเข้าใจดังนี้

  • ในเด็ก การฉีดวัคซีนจะได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากฉีดก่อนวัยเจริญพันธ์ แนะนำให้ฉีดวัคซีนเลยตั้งแต่อายุ 9 ขวบทั้งเด็กหญิง เด็กชาย  ซึ่งการฉีดก่อนอายุ 15 ปี จะฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็ม
  • ในผู้อายุน้อยที่มีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว สามารถฉีดวัคซีนได้ แม้ว่าอาจจะเคยติดเชื้อไปแล้ว แต่วัคซีนปัจจุบันสามารถป้องกันได้หลายสายพันธ์ุ ดังนั้นจึงอาจมีประโยชน์ในการป้องกันสายพันธุ์ที่ยังไม่ได้ติดเชื้อ   
  • ผู้หญิงที่อายุมาก แต่อยู่คนเดียว และไม่คิดจะมีเพศสัมพันธ์อีก กลุ่มนี้หลายคนมาปรึกษาเพราะกลัวเป็นมะเร็งปากมดลูก กลุ่มนี้โดยทั่วไปจะไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนครับ เพราะประโยชน์จะน้อย เพราะอย่างที่กล่าววัคซีนจะมีประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อใหม่ ถ้ามีการติดเชื้อไปแล้ววัคซีนจะป้องกันไม่ได้ และถ้าคิดว่าจะไม่มีเพศสัมพันธ์อีก (แปลว่าไมมีโอกาสได้รับเชื้อ HPV ใหม่)  การฉีดวัคซีนอาจจะไม่คุ้ม อย่างไรก็ตามผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรตรวจภายในสม่ำเสมอเพื่อเป็นการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  • ผู้ชายอายุน้อย จริงๆก็แนะนำให้ฉีดครับ แม้ว่าผู้ชายจะไม่เป็นมะเร็งปากมดลูก แต่การฉีดวัคซีน HPV ในผู้ชายมีประโยชน์ในการป้องกันหูดหงอนไก่ และยังสามารถป้องกันแพร่เชื้อ HPV โดยเฉพาะสายพันธ์ุที่ทำให้เกิดมะเร็งไปให้ผู้อื่นด้วย

5. อายุเท่าไรที่ควรฉีดวัคซีน HPV

ตามทฤษฎีแล้ว การฉีดวัคซีน HPV ยิ่งเริ่มฉีดตอนอายุน้อยก่อนมีเพศสัมพันธ์จะดีที่สุดครับ โดยเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ และสามารถฉีดได้ถึงอายุ 45 ปี โดยถ้าเริ่มฉีดในอายุน้อยกว่า 15 ปี จะฉีดเพียง 2 เข็ม (คือที่ 0 และ6-12 เดือน) แต่ถ้าฉีดหลังอายุ 15 ปี ต้องฉีด 3 เข็ม (คือที่ 0, 1-2 เดือน และ 6 เดือน)

เอกสารแนะนำล่าสุดเกี่ยวกับวัคซีน HPV จากองค์การอนามัยโลก (December 2022)

6. วัคซีน HPV มีกี่แบบ และแบบ 4 สายพันธุ์และแบบ 9 สายพันธุ์แบบไหนดีกว่ากัน

ต้องเข้าใจอย่างนี้ก่อนครับว่า เชื้อไวรัส HPV มีหลายสายพันธุ์ โดยเรามักจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่สามารถทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ โดยจะเป็นเชื้อในสายพันธุ์ 16, 18 เป็นหลัก (โดยพบประมาณ 70% ของสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด) และกลุ่มที่ไม่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก (แต่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ได้) คือสายพันธุ์ 6 และ 11

ส่วนวัคซีนที่มีใช้ในท้องตลาดปัจจุบัน มี 3 ชนิดคือ

  • วัคซีนแบบ 2 สายพันธุ์ (ป้องกันสายพันธุ์ 16,18 ได้)  ปัจจุบันวัคซีนชนิดนี้ ไม่มีที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน
  • วัคซีน 4 สายพันธุ์ ชื่อการค้าคือ Gardasil® ป้องกันสายพันธุ์ 16,18 และ 6,11 ได้
  • วัคซีน 9 สายพันธุ์ ชื่อการค้าคือ Gardasil9® ป้องกันสายพันธุ์ 16,18 และ 6,11 ได้เหมือนแบบ 4 สายพันธุ์ แต่มีการเพิ่มการป้องกันอีก 5 สายพันธุ์คือ 31, 33, 45, 52, 58

เอาเข้าจริงไม่จำเป็นต้องจำตัวเลขพวกนี้ครับ  ให้คิดง่ายๆครับว่า ถ้าเราต้องการป้องกันมะเร็งปากมดลูก วัคซีนแบบ 4 สายพันธุ์ก็สามารถป้องกันสายพันธุ์หลักๆ ที่เป็นตัวพ่อสำคัญทำให้เกิดมะเร็งได้ประมาณ 70 %แล้ว ส่วนการฉีดแบบ 9 สายพันธุ์ก็จะได้การป้องกันสายพันธุ์ที่มากขึ้นอีก 5 ชนิด แต่เป็นสายพันธุ์ที่สำคัญน้อย รองลงมา สายพันธุ์พวกนี้พบว่าทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้น้อยกว่า นั่นคือไม่ได้แปลว่า 9 สายพันธุ์จะดีกว่า 4 สายพันธุ์ 2 เท่า (เพราะ 9 มากกว่าเลข 4 ถึง 2 เท่ากว่า) แต่ความจริงคือแบบ 9 สายพันธุ์ ย่อมดีกว่า 4 สายพันธุ์แน่นอนในแง่การป้องกันมะเร็งปากมดลูก คือดีขึ้นจาก 70 % ขึ้นเป็นประมาณ 90% 

ถามว่าการป้องกันที่ได้มากขึ้นอีก 20 % นี้คุ้มไหม คงต้องพิจารณาเป็นรายๆครับ เพราะการครอบคลุมสายพันธุ์ที่มากขึ้น ย่อมแลกมาด้วยราคาที่สูงกว่ามาก (ราคาปัจจุบันที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คือ วัคซีน 4 สายพันธุ์ราคา 2,564 บาทต่อเข็ม ส่วน 9 สายพันธุ์ราคา 6,075บาทต่อเข็ม) และวัคซีนชนิดนี้ถือว่าเป็นวัคซีนที่มีราคาสูงอยู่มากครับ 

7. วัคซีน HPV นี้ปลอดภัยไหม มีอันตรายหรือมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

วัคซีน HPV เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย  และถือว่าเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูงมาก ใช้กันทั่วโลก และองค์การอนามัยโลกเองก็แนะนำให้ใช้วัคซีนนี้ ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ก็เหมือนวัคซีนทั่วๆไปครับ ซึ่งส่วนใหญ่อาการจะไม่มากและหายได้เอง เช่น บางคนอาจจะมีไข้ เจ็บปวดบริเวณที่ฉีด หรือมีอาการปวดเมื่อยตามตัว ฯลฯ ผลข้างเคียงหรือการแพ้วัคซีนที่รุนแรงพบได้น้อยมาก วัคซีนนี้ไม่ควรฉีดในผู้ที่แพ้ส่วนประกอบของวัคซีน หรือฉีดในสตรีมีครรภ์   

8. ถ้าฉีดวัคซีนป้องกัน HPV แบบ 4 สายพันธุ์ไปแล้ว อยากเพิ่มการป้องกันขอฉีดแบบ 9 สายพันธุ์เพิ่มได้หรือไม่

เมื่อฉีดวัคซีนแบบ 4 สายพันธุ์ครบไปแล้ว โดยทั่วไปไม่ได้มีคำแนะนำให้ฉีดเพิ่มแบบ 9 สายพันธุ์ครับ อย่างไรก็ตามแล้วแต่บุคคลครับ ถ้าคิดว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV สูง และมีความต้องการอยากให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้นอีก ก็สามารถฉีดได้ครับ โดยไม่มีข้อห้ามพิเศษอะไร สามารถพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและฉีดได้เลย ส่วนในบางคนที่เริ่มฉีดแบบ 4 สายพันธุ์ไปแล้ว 1 เข็ม จะขอเปลี่ยนกลับมาเป็นฉีดแบบ 9 สายพันธุ์ได้ไหม จริงๆกลุ่มนี้ก็สามารถทำได้ครับ โดยมักจะแนะนำให้ฉีดแบบ 9 สายพันธุ์เพิ่มอย่างน้อย 2 เข็ม เพื่อให้มั่นใจในความครอบคลุมสายพันธุ์ที่ต้องการป้องกันมากขึ้น ตรงนี้ก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้ครับ

9. ถ้าอยากฉีดวัคซีนป้องกัน HPV มาขอฉีดที่คลินิกนักท่องเที่ยว โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ได้ไหม

ได้ครับ จริงๆแล้วปัจจุบันวัคซีน HPV หาได้ง่ายขึ้นมากในโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมทั้งโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน

แม้ว่าวัคซีน HPV จะไม่ใช้วัคซีนสำหรับนักเดินทาง แต่ปัจจุบันคลินิกนักท่องเที่ยวได้เปิดให้บุคคลทั่วไป สามารถมาขอฉีดวัคซีนได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทาง อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัจจุบันมีผู้มารับบริการมาก แนะนำให้ทำนัดเข้ามาก่อนครับ ตาม LINK นี้ สามารถดูราคาวัคซีน และค่าบริการโรงพยาบาลได้ที่  LINK นี้

ข้อควรรู้อื่นๆเกี่ยวกับวัคซีน HPV 

  1. แม้ว่าการฉีดวัคซีนป้องกัน HPV จะเป็นการป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่ดี แต่การตรวจภายในร่วมกับการทำ Pap smear เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ยังมีความจำเป็นครับ เพราะการตรวจพบเซลล์เยื่อบุปากมดลูกที่ผิดปกติ และได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆจะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้
  2. แม้ว่าการใช้ถุงยางอนามัยจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ 100% เนื่องจากการติดเชื้อ HPV เกิดจากการสัมผัสระหว่างผิวหนังกับผิวหนัง (Skin to skin contact) ซึ่งถุงยางอนามัยอาจจะครอบคลุมไม่ถึง อย่างไรก็ตาม การใช้ถุงยางอนามัยยังมีความสำคัญ เพราะลดความเสี่ยงในการเกิดโรค HPV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆได้
  3. ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขบรรจุวัคซีนป้องกัน HPV เข้าไปในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน (EPI) ของประเทศแล้ว โดยจะฉีดให้เด็กผู้หญิงชั้นประถมศึกษา 5 (อายุ 9 ปี) แต่ยังไม่ครอบคลุมในเด็กชาย