ขั้นตอน ข้อห้ามและข้อควรระวังในการฉีดวัคซีนไข้เหลือง

ขั้นตอนการรับวัคซีนไข้เหลืองที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนค่อนข้างยุ่งยากครับ ซึ่งหลายคนอาจจะงงว่าทำไมมีขั้นตอนเยอะ ต้องเจอหมอ คุยกับหมอ ต้องกรอกแบบฟอร์ม กว่าจะได้ฉีด ทำไมยุ่งยาก แถมบางคนคุยแล้วไม่ได้ฉีดอีกต่างหาก ทำให้ง่ายๆไม่ได้หรือ น่าจะแค่เดินมาบอกว่า ขอฉีดไข้เหลืองแล้วก็ยกแขนฉีดก็จบเลย ไม่ได้หรือ

ก็ต้องตอบตรงนี้ครับว่า เราทำขั้นตอนง่ายๆแบบนั้นไม่ได้ เพราะวัคซีนไข้เหลืองเป็นวัคซีนพิเศษ ต้องใช้ให้เหมาะสม มีข้อห้ามและข้อควรระวังมาก ซึ่งแพทย์ต้องพิจารณาให้ดีก่อนว่าใครสมควรได้รับวัคซีน และจะรับวัคซีนได้หรือไม่ 

ลองมาดูกันครับว่า การจะฉีดวัคซีนไข้เหลือง มีขั้นตอนอะไรบ้าง และมีข้อห้ามและข้อควรระวังอะไร

  1. ก่อนอื่นแพทย์จะต้องพิจารณาแผนการเดินทางก่อนว่า การเดินทางครั้งนี้ไปในประเทศ หรือดินแดนที่มีความเสี่ยงของไข้เหลืองหรือไม่ หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องบินในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ จริงๆตรงนี้ก็มีรายละเอียดเยอะครับ ถ้าใครยังไม่ได้อ่านบทความต่อไปนี้ แนะนำให้ลองอ่านดูครับ ว่า ใครและการเดินทางไปประเทศไหนที่ต้องฉีดวัคซีนไข้เหลืองบ้าง
  2. ถ้าจำเป็นต้องฉีด ก็มาว่ากันต่อครับ ในคลินิกนักท่องเที่ยวแพทย์จะให้ข้อมูลครับว่า วัคซีนไข้เหลืองเป็นอย่างไร ทำไมต้องฉีด และมีผลข้างเคียงมากไหม และเกิดอะไรได้บ้าง กล่าวแบบย่อๆคือ วัคซีนไข้เหลืองเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูงมากครับ ผลข้างเคียงน้อย ที่พบบ่อยส่วนใหญ่มักจะไม่รุนแรง เช่น มีไข้ หรือเจ็บปวดบริเวณที่ฉีด ซึ่งจะเป็นอยู่ไม่นาน 2-3 วันก็จะหายเป็นปกติ ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการฉีดไข้เหลืองพบน้อยมาก 
  3. หลังจากนั้นแพทย์จะพิจารณาว่า นักท่องเที่ยวมีข้อห้ามและข้อควรระวังในการฉีดวัคซีนไข้เหลืองหรือไม่ โดยดูจากแบบฟอร์มด้านล่าง ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องกรอกแบบฟอร์มดังกล่าว ก่อนเข้าพบแพทย์

  4. จากแบบฟอร์มนี้จะเห็นว่า ถ้านักเดินทางไม่มีโรคหรือภาวะดังกล่าวเลย (ทุกข้อตอบ “ไม่” ทั้งหมด) แสดงว่าไม่มีข้อห้ามหรือข้อควรระวัง สามารถฉีดวัคซีนไข้เหลืองได้ตามปกติ
  5. แต่ถ้านักเดินทางติ๊กข้อใดข้อหนึ่งว่าใช่ ไม่ได้แปลว่าฉีดวัคซีนไม่ได้ เพราะจะมีรายละเอียดอีกพอสมควร เช่น ถ้าใครติ๊กว่ามีโรคประจำตัว เช่น เป็นโรคความดัน ไมเกรน หรือภูมิแพ้ โรคเหล่านี้ไม่ได้เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีน สามารถฉีดได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นโรคร้ายแรง เช่นเป็นมะเร็ง หรือติดเชื้อ HIV และ CD4 ยังต่ำอยู่ กลุ่มนี้จะฉีดวัคซีนไม่ได้ นั่นคือเดินทางไม่ได้ แพทย์จะแนะนำให้ยกเลิกการเดินทาง
  6. โรคหรือภาวะบางอย่างต่อไปนี้เป็นข้อห้าม/ข้อควรระวังในการฉีดวัคซีน 
     

    • เป็นเด็กที่อายุน้อยกว่า 9 เดือน
    • เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
    • กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
    • แพ้วัคซีนหรือส่วนประกอบของวัคซีน
    • เป็นโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เช่น การติดเชื้อ HIV หรือ AIDS
    • เป็นโรคมะเร็ง 
    • กินยาที่กดภูมิคุ้มกัน หรือการได้รับยาเคมีบำบัด/ฉายแสง
    • เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมไทมัส (Thymus) หรือโรค MG (Myasthenia Gravia) หรือ Thymoma
  7. ถ้านักเดินทางคนใดมีโรคหรือภาวะดังกล่าวในข้อ 6. อาจจะทำให้ฉีดวัคซีนไข้เหลืองไม่ได้ ซึ่งนั้นก็แปลจะทำให้เดินทางไม่ได้ ดังนั้นถ้าใครมีภาวะดังกล่าวและจะมีแผนการเดินทางไปในประเทศที่มีไข้เหลือง ให้รีบมาปรึกษาแพทย์ อย่าเพิ่งซื้อตั๋วเครื่องบินหรือจองทัวร์ เนื่องจากมีหลายกรณีที่แพทย์ไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ได้ ทำให้ไปไม่ได้ แต่นักเดินทางท่านนั้นได้จ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าทัวร์ไปหมดแล้ว กรณีเช่นนี้จะทำให้เสียเงินโดยไม่จำเป็น

ต่อไปนี้เป็นคำถามที่ถามบ่อยเกี่ยวกับข้อห้าม/ข้อควรระวังในการฉีดวัคซีนไข้เหลือง

Yellow fever vaccine - FAQ

ทำไมคนสูงอายุถึงไม่ควรฉีดวัคซีนไข้เหลือง

เนื่องจากผู้สูงอายุ โดยเฉพาะถ้ามีอายุมากกว่า 60 หรือ 65 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากวัคซีนได้ ผลข้างเคียงนั้นคือ ร่างกายอาจจะต่อสู้กับเชื้อไข้เหลืองในวัคซีนไม่ได้ ทำให้เกิดเป็นไข้เหลืองขึ้นมาจริงๆ ซึ่งผลข้างเคียงนี้รุนแรง และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ผลข้างเคียงนี้จะพบครั้งแรกที่ฉีดวัคซีนไข้เหลืองเท่านั้น ถ้าใครเคยฉีดมาก่อนแล้วก็สามารถฉีดครั้งที่ 2,3 ได้อย่างสบายใจ

แต่ถ้าใครยังไม่เคยฉีดวัคซีนไข้เหลืองมาก่อน จะมีความเสี่ยงครับ โดยความเสี่ยงจะสูงมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยในคนหนุ่มๆสาวๆ สามารถเกิดเหตุการณ์ที่ว่าได้ แต่โอกาสเกิดน้อยมาก ประมาณ 1 ในล้าน แต่เมื่ออายุมากขึ้น เช่นอายุเกิน 65 ปี โอกาสเกิดจะสูงขึ้นเป็นประมาณ 1 ใน 100,000 แต่ถ้าอายุเกิน 70 ปี โอกาสเกิดผลข้างเคียงนั้นจะสูงขึ้นไปอีก เป็น 1 ใน 50,000 ซึ่งถ้าเป็นคนนั้นจริงๆ โรคจะรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้

ดังนั้นที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน จึงไม่ฉีดวัคซีนไข้เหลืองให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง 

ถ้ามีโรคหรือภาวะที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนไข้เหลืองได้ จะทำอย่างไร

อันดับแรกเลยครับ ต้องพิจารณาดูว่า โรคหรือภาวะที่ทำให้ไม่สามารถฉีดวัคซีนไข้เหลืองได้ เป็นภาวะชั่วคราวหรือไม่ ถ้าเป็นภาวะชั่วคราว ก็แนะนำให้เลื่อนการเดินทางไปก่อน จนกระทั่งสามารถฉีดวัคซีนได้ เช่น หยุดยา Steroid ก่อน อย่างน้อย 1 เดือน หรือในรายที่ติดเชื้อ HIV ให้รับรักษาการติดเชื้อ จนมี CD4 มากกว่า 500 ก่อน แล้วค่อยฉีดวัคซีนทีหลัง

แต่ถ้าโรคหรือภาวะนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่นอายุมากกว่า 65 หรือ 70 ปี แนะนำให้ยกเลิกการเดินทาง

ถ้าฉีดวัคซีนไข้เหลืองไม่ได้ แพทย์สามารถออกใบรับรองแพทย์ให้ได้ไหม เพื่อที่จะได้เดินทางได้

ถ้านักเดินทางมีข้อห้ามทางการแพทย์ของการฉีดวัคซีนไข้เหลือง ทำให้ฉีดวัคซีนไม่ได้ แพทย์สามารถจะออกใบรับรองแพทย์ให้ได้ แต่ไม่แนะนำให้เดินทางไปประเทศที่มีความเสี่ยงอยู่ดี เนื่องจาก

  1. การถือใบรับรองแพทย์นั้นไประหว่างการเดินทาง ไม่ได้ยืนยันว่า จะทำให้สายการบินยอมให้ขึ้นเครื่องบิน และไม่ได้ยืนยันว่าใบนั้นจะทำให้ผ่านตม. หรือทำให้เข้าประเทศได้ นักเดินทางอาจถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศได้อยู่ดี เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎหรือความเข้มงวดในการตรวจสมุดเล่มเหลือง ถ้าพูดแบบง่ายๆคือ ใบรับรองแพทย์ที่ออกไปนั้น ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ และไม่ได้มีผลบังคับใช้กับตม.ปลายทาง ทำให้อาจถูกกักตัว หรือส่งกลับประเทศได้
  2. ตม.ปลายทาง โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกา อาจบังคับให้ฉีดวัคซีนไข้เหลืองที่หน้าด้าน ก่อนเข้าประเทศ โดยที่เขาไม่สนใจใบรับรองแพทย์ หรือหนังสือรับรองว่าคนนั้นฉีดวัคซีนไม่ได้ ซึ่งการรับวัคซีนแบบนั้นจะเกิดอันตรายได้
  3. ในบางสถานการณ์ ระหว่างการเดินทางอาจจะไม่มีใครตรวจสมุดเล่มเหลือง และสามารถผ่านเข้าไปในประเทศที่มีไข้เหลืองได้ แต่อย่าลืมว่านักเดินทางคนนั้นไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งจะมีโอกาสที่จะติดโรคไข้เหลืองได้จากการถูกยุงกัด ซึ่งถ้าเกิดโรคขึ้นมา โรคจะรุนแรงและเสียชีวิตได้
  4. นอกจากนี้เมื่อเดินทางเสร็จสิ้น เดินทางออกจากดินแดนไข้เหลือง และกลับมายังประเทศไทย ตม.ไทย ยังมีอำนาจในการตรวจว่าใครได้ฉีดวัคซีนหรือไม่ ถ้าไม่ได้ฉีด อาจมีปัญหากับตม. หรืออาจถูกบังคับใช้กฎหมายให้กักตัวดูอาการก่อน เพราะทางการไทยต้องป้องกันไม่ให้ใครเอาโรคไข้เหลืองกลับมายังประเทศไทย

ดังนั้นทางที่ดีที่สุด ถ้ามีโครงการจะไปเที่ยวประเทศที่มีไข้เหลือง แต่ไม่สามารถฉีดวัคซีนไข้เหลืองได้ ไม่ว่าจะสาเหตุใดๆ เช่น อายุมาก มีโรคประจำตัวบางอย่าง แนะนำให้ยกเลิกการเดินทาง  

ถ้าไม่แน่ใจให้รีบมาปรึกษาแพทย์ อย่าเพิ่งจ่ายเงินซื้อตั๋วเครื่องบิน หรือจ่ายค่าที่พัก เพราะถ้าไปไม่ได้จริงๆ เงินที่จ่ายไปแล้ว อาจจะขอคืนไม่ได้

ทำไมการเป็นโรคมะเร็ง หรือใช้ยากดภูมิคุ้มกัน หรือติดเชื้อ HIV ถึงเป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีนไข้เหลือง

เนื่องจากวัคซีนไข้เหลืองเป็นวัคซีนเชื้อเป็น ดังนั้นในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องไม่ว่าจากสาเหตุใดๆก็ตาม อาจจะปัญหาคือร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อไข้เหลืองในวัคซีนได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อไข้เหลืองขึ้นมาได้จริงๆเหมือนกการติดเชื้อตามธรรมชาติ ซึ่งอาการมักจะรุนแรง และอาจเสียชีวิตได้ 

ดังนั้นผู้ที่ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องไม่สามารถฉีดวัคซีนได้

ติดเชื้อ HIV แต่ไม่มีอาการสามารถฉีดวัคซีนไข้เหลืองได้หรือไม่

ถ้านักเดินทางมีการติดเชื้อ HIV แต่มีระดับ CD4 count ที่สูงมากกว่า 500 ตัว ไม่มีปัญหาครับ สามารถฉีดวัคซีนไข้เหลืองได้ตามปกติ แต่ถ้ามีระดับ CD4 ต่ำกว่านั้น อาจจะมีปัญหาได้ แพทย์มักจะแนะนำให้รับการรักษาการติดเชื้อ กินยาต้านไวรัส ให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน มีระดับ CD4 ที่สูงกว่า 500 ถึงจะมาฉีดวัคซีนได้ครับ

ขอเน้นย้ำอีกครั้งครับ 

        “ถ้านักเดินทางคนใดมีโรคหรือภาวะที่อาจเป็นข้อห้ามของการฉีดวัคซีนไข้เหลือง ให้รีบมาปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากมีหลายกรณีที่แพทย์ไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ได้ ทำให้ไม่สามารถไปเที่ยวได้ และอย่าเพิ่งตัดสินใจจ่ายเงินล่วงหน้า เพราะอาจมีปัญหาไม่สามารถขอเงินคืนได้”