การตรวจคัดกรองวัณโรค เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและสร้างความสับสนให้กับนักเรียน นักศึกษาที่กำลังจะไปเรียนเมืองนอก รวมถึงผู้ปกครองไม่น้อย เพราะก่อนไปเรียนมักจะมีใบเกี่ยวกับสุขภาพมาให้แพทย์กรอก และหนึ่งในนั้นมักจะกำหนดให้ต้องตรวจคัดกรองวัณโรคอยู่ด้วย ซึ่งนอกจากจะหาที่ตรวจยากแล้ว การตรวจยังยุ่งยาก ต้องเจ็บตัว และมาโรงพยาบาล 2 ครั้ง นอกจากนี้ผลการตรวจยังแปลยาก และอาจสร้างความกังวลและตกใจได้ การที่จะเข้าใจเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ เพราะมีประเด็นต่างๆมากมายมาเกี่ยวข้อง
ลองค่อยๆอ่านดูทีละประเด็นนะครับ
1. อย่างแรกเลยที่จะต้องทราบคือ การตรวจ Tuberculin skin test หรือ TB Skin test หรือ PPD test หรือ Mantoux test เป็นการพูดถึงการตรวจอย่างเดียวกัน แต่เรียกได้หลายชื่ออาจทำให้สับสนได้ แต่ขอให้เข้าใจว่าชื่อ test ต่างๆนั้นหมายถึงเรื่องเดียวกัน และในที่นี่เราจะใช้ว่า Tuberculin skin test
2. การตรวจ Tuberculin skin test เป็นการตรวจปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อเชื้อวัณโรค ทำได้โดยการฉีดเศษของเชื้อวัณโรคเข้าไปใต้ผิวหนัง เพื่อทดสอบว่าร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อต้านเชื้อวัณโรคนี้มากน้อยแค่ไหน ถ้าร่างกายมีการต่อต้านมาก ก็จะเกิดการบวมอักเสบขึ้นมา โดยทั่วไปถือว่า ถ้ามีรอยนูนมากกว่า 10 mm ถือว่าการทดสอบให้ผลบวก (Tuberculin skin test – Positive) แสดงว่าคนคนนั้นน่าจะเคยสัมผัสเชื้อวัณโรค ทำให้มีปฏิกิริยาต่อต้านขึ้นมาให้เราเห็น ตรงนี้ต้องขอพูดอีกทีนะครับว่า การที่มีผลบวกแปลว่า เคยสัมผัสเชื้อ ไม่ได้แปลว่าเป็นวัณโรค
การตรวจ Tuberculin skin test
(Public domain photo: CDC’s Public Health Image Library)
3. ประเทศไทยหรือประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ถือว่าเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของวัณโรคอยู่มาก ดังนั้นคนไทยส่วนใหญ่จึงสามารถสัมผัสเชื้อวัณโรคได้บ่อยตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มีคนอยู่กันอย่างหนาแน่น เพราะเชื้อวัณโรคแพร่กระจายได้ทางอากาศ แต่การที่คนเราสัมผัสโรคไม่ได้แปลว่าจะเป็นโรคเสมอไป ถ้าร่างกายแข็งแรง มีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ร่างกายไม่แข็งแรง เมื่อสัมผัสเชื้อแล้ว ร่างกายไม่สามารถต่อสู้ได้ ทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อ ทำให้เกิดวัณโรคขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ ไอ น้ำหนักลด ผอมลง พวกนี้เราเรียกว่า Active TB
4. อย่างที่กล่าวมาแล้ว คนส่วนใหญ่ที่แข็งแรงดี แม้ว่าจะสัมผัสเชื้อวัณโรค ร่างกายจะสามารถต่อสู้และกำจัดเชื้อได้ ทำให้เราไม่มีอาการใดๆ และไม่เป็นวัณโรค แต่เนื่องจากเชื้อวัณโรคเป็นเชื้อที่ตายยาก บางครั้งร่างกายสามารถควบคุมเชื้อได้ แต่ไม่สามารถฆ่าได้ ทำให้เชื้อยังหลบอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะที่ปอด ถ้าร่างกายเราแข็งแรงดี ก็จะไม่เป็นวัณโรคเลย แต่ในบางครั้งถ้าร่างกายเราอ่อนแอลง หรือภูมิคุ้มกันลดลง เช่นติดเชื้อ HIV จะทำให้เชื้อที่เคยหลับอยู่ หรืออยู่ภายใต้ความควบคุม เกิดตื่นขึ้นมา หรือเรียกว่าเกิด Reactivation เกิดเป็น active disease ได้
5. ตรงนี้ล่ะครับที่ยาก เพราะทางการแพทย์มีคำว่า Latent TB ซึ่งหมายถึง การติดเชื้อวัณโรคแล้วไม่แสดงอาการ แต่เชื้อยังอยู่และอาจจะตื่นกลับมาทำให้เกิดโรคภายหลังได้ ซึ่งตรงนี้ถ้าดูจากภายนอก เขาก็คือคนปกติคนหนึ่ง ไม่มีอาการใดๆ ไม่ไอ ไม่มีไข้ ไม่มีน้ำหนักลด และ X ray ปอดก็ปกติด้วย เพียงแต่มีเชื้อซึ่งหลบอยู่เท่านั้น ซึ่งจริงๆจะว่าไปมีคนที่เป็น Latent TB เพียง 5-10% เท่านั้นที่เชื้อจะ Reactivate กลับมาใหม่ทำให้เกิด Active disease ได้ แปลว่าคนส่วนใหญ่สามารถควบคุมเชื้อได้ไปตลอด และจะไม่เป็นวัณโรคเลย
6. การตรวจ Tuberculin skin test เป็นการตรวจหา Latent TB วิธีหนึ่ง ซึ่งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆที่มีอุบัติการณ์ของวัณโรคสูงมักจะไม่ทำกัน เนื่องจาก อย่างที่กล่าวมาแล้วคือมีคนไทยจำนวนมากสัมผัสเชื้อมาแล้ว ถ้าเราเหมาว่าทุกคนที่เคยสัมผัสเชื้อมาแล้วมีปฏิกิริยาต่อต้านเชื้อ (Tuberculin skin test – positive) ถือว่าเป็น Latent TB และต้องรักษาหมดก็ไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่าคนที่เป็น Latent TB คือคนปกติที่ไม่ได้มีอาการและไม่ได้เป็น Active disease องค์การอนามัยโลกเองเคยประมาณว่ามีประชากรโลกถึง 1 ใน 3 เคยสัมผัสเชื้อวัณโรคและเป็น Latent TB เราจึงไม่ได้ตรวจ หรือไม่ได้รักษาประชากรในกลุ่ม Latent TB โดยทั่วไป จะมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่แพทย์จะพิจารณา
7. ดังนั้นในคนไทยโดยทั่วไป เราจึงไม่แนะนำให้ทำ Tuberculin skin test เพราะถ้าทำออกมาแล้วผลเป็นบวก (ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้มาก) ก็จะกังวลกันเปล่าๆ ยิ่งไปกว่านั้นคนไทยทุกคนเคยได้รับวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) มาแล้วตั้งแต่เกิด ซึ่งการได้รับวัคซีนนี่เอง เชื่อว่าจะทำให้ผล Tuberculin skin test เป็นบวกได้
8. แต่ในมุมมองของประเทศยุโรปและอเมริกา ประเทศเขามีอุบัติการณ์ของวัณโรคต่ำ ดังนั้นเขาถึงต้องปัองกันการแพร่ระบาด ทำให้เขามีกฏว่าถ้าคนที่มาจากประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย ถ้าไปอยู่ประเทศเขาเป็นเวลานาน เช่นไปเรียนหนังสือ ต้องทำการตรวจ Tuberculin skin test ซึ่งถ้าบวก แปลว่าเคยสัมผัสเชื้อมาก่อน (ซึ่งคนไทยมักจะบวก) ทีนี้เมื่อมีผลบวกแล้วทางโน้นเขาจะทำอย่างไร ตรงนี้ค่อนข้างหลากหลายครับ หลายมหาวิทยาลัย หลายรัฐ จะเข้าใจทราบว่าคนไทยมีการฉีดวัคซีน BCG การที่ Tuberculin skin test บวกไม่ได้มีความหมายอะไรมาก ทางโน้นเขามักให้ยืนยันโดยการทำ X-ray ปอดต่อ ซึ่งถ้าผลออกมาปกติ ก็คือนักเรียนเราไม่ได้เป็นวัณโรค ก็ไม่ต้องทำอะไร สามารถเข้าเรียนได้ตามปกติ
9. แต่บางรัฐ บางมหาวิทยาลัย จะมีนโยบายว่า ถ้า Tuberculin test positive ให้ X ray ปอดต่อ และถ้าออกมาปกติ เขาก็ยังถือว่าเป็น Latent TB (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าตรวจยืนยันด้วย QuantiFERON แล้วให้ผลบวก) ต้องกินยาเหมือนกัน แต่ยาจะเป็นคนละสูตรกับการรักษา Active TB จะเห็นว่าตรงนี้จะเกิดปัญหากับนักเรียนไทยมาก เพราะนักเรียนเราก็ปกติ แข็งแรงดี ไม่มีอาการใดๆ X-ray ปอดก็ปกติ แต่มาทำ Tuberculin skin test แล้วผลเป็นบวก เขาก็เหมาว่าเราเป็น Latent TB ซึ่งต้องรักษากินยาตั้ง 3-6 เดือน ก็ลำบากครับ อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยจำนวนมาก เริ่มเข้าใจและเปลี่ยนนโยบายดังกล่าว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องศึกษานโยบาย และกฎของแต่ละโรงเรียน มหาวิทยาลัย และแต่ละรัฐให้ดี
10. ทีนี้เราควรจะทำอย่างไรดี อย่างแรกเลยคือ ต้องคิดดีๆก่อนจะตรวจ Tuberculin skin test ต้องดูว่าจำเป็นต้องตรวจไหม มีทางอื่นให้เลือกไหม
แนะนำให้อ่านบทความนี้ต่อครับ ทำอย่างไรเมื่อต้องตรวจ Tuberculin test (TB skin test) ก่อนไปเรียนเมืองนอก
เรื่องน่าสนใจอื่นๆ เกี่ยวกับการไปเรียนต่อต่างประเทศ