การขอใบรับรองแพทย์กรณี COVID19 เพื่อใช้ในการเดินทาง

ช่วงนี้มีเริ่มมีคนถาม และปรึกษาคลินิกนักท่องเที่ยวของเรา เรื่องใบรับรองแพทย์ในกรณี COVID19 มากขึ้นครับ ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้เพื่อประกอบการเดินทาง/ขอวีซ่า บางคนมาปรึกษาว่าจะไปจังหวัดนี้ แต่ทางจังหวัดไม่ให้เข้า นอกจากจะมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าไม่มี COVID19 ก่อนถึงเดินทางได้ จะทำอย่างไรดี

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและมีรายละเอียดพอสมควรครับ คงมาดูกันทีละประเด็นดังนี้ครับ 

อ่านเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “การขอตรวจ COVID19 ก่อนไปต่างประเทศ และการขอใบรับรองแพทย์ COVID”

 

** หมายเหตุ **ปัจจุบันประเทศไทย ไม่มีการจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัดแล้ว เนื้อหาด้านล่างไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

1. ทำไมการเดินทางแค่ข้ามจังหวัด ต้องกลัวโรค COVID19 

อย่างที่เราทราบกัน การเดินทางไปมาหาสู่กันทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดโรค COVID19 แน่นอน  แม้ว่าณ.วันนี้สถานการณ์ของประเทศดีขึ้นมาก มีผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลง แต่เรายังต้องเฝ้าระวังกันอย่างเข้มงวดครับ  ซึ่งความเสี่ยงของแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน บางจังหวัดเช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี หรือภูเก็ต ฯลฯ ยังถือว่ามีความเสี่ยงสูงอยู่ เมื่อเทียบกับบางจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเลยเป็นเวลานานแล้ว ทำให้มีความกังวลกันว่า ถ้ามีการเดินทางจากจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ไปยังจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อมานานแล้ว จังหวัดปลายทางย่อมจะกังวลครับว่า จะมีผู้เดินทางเอาโรคเข้ามาแพร่ระบาดหรือไม่ ทำให้มีมาตรการต่างๆออกมา เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว

ดังนั้นดีที่สุด อย่างที่กระทรวงสาธารณสุข และหลายภาคส่วนแนะนำครับ คือ ถ้าไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางที่ใช้เวลานาน หรือมีผู้คนแออัด หรือเดินทางข้ามจังหวัด  

2. ถ้าจำเป็นต้องเดินทาง จะรู้ได้อย่างไรว่าจังหวัดไหนมีมาตรการอะไรบ้าง

ตรงนี้ยากครับ เพราะแต่ละจังหวัด สามารถออกมาตรการของตัวเองได้ แล้วแต่บริบทของจังหวัดนั้นๆ บางจังหวัดไม่ได้มีการปิดกั้นการเดินทาง แต่บางจังหวัดจะมีมาตรการที่เข้มข้น เช่น คนภายนอกห้ามเข้าจังหวัดเลย หรือบางจังหวัดระบุว่า ถ้าจะมาต้องแจ้งล่วงหน้าก่อน และถึงเข้าได้ และถ้าเข้ามาแล้วยังต้องถูกกักตัวในสถานที่ของทางราชการอีก 14 วัน 

ข้อมูลมาตรการต่างๆเหล่านี้ ต้องหาในแหล่งที่เชื่อถือได้ เป็นทางการ และต้อง update อย่างสม่ำเสมอ แนะนำ website นี้ครับ ของ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย  ในนี้จะมีแผนที่ประเทศไทย ดังรูปด้านล่างครับ

Website ของศบค.มท ที่มี Link ไปยังมาตรการที่เป็นทางการของแต่ละจังหวัด

 

และเมื่อคลิกไปที่จังหวัดใด จะมี Link ไปยัง official website ของจังหวัดนั้นๆ เราก็จะหาข้อมูลได้โดยสะดวก ดังตัวอย่างด้านล่างเป็นข้อมูลของจังหวัดพังงา

ตัวอย่างมาตรการของจังหวัดพังงา http://www.phangnga.go.th/

 

3. เจอข้อมูล/มาตราการของจังหวัดแล้ว จะทำอย่างไรต่อดี

เมื่อเจอข้อมูลแล้ว ขอให้อ่านอย่างละเอียดครับ เพราะในตัวมาตรการจะมีรายละเอียดมาก ดูดีๆนะครับว่า เราต้องขออนุญาต หรือแจ้งทางจังหวัดก่อนไหม ถ้าต้องแจ้ง จะแจ้งทางไหน แจ้งอย่างไร และคิดอีกครั้งครับ ว่าเราจำเป็นต้องไปจริงๆไหม และจะไปกี่วัน สมมุตินะครับ ว่าเราต้องไปทำธุระแค่วัน 2 วัน แต่จังหวัดที่เราจะไปมีมาตรการคือ เมื่อไปถึงแล้ว จะถูกกักตัวในสถานที่ที่ราชการจัดไว้ 14 วัน ก็ไม่น่าไป แต่ถ้าเราจะไปภูมิลำเนา แล้วไปอยู่ยาวเป็นเดือนหรือหลายๆเดือน อย่างนี้ก็ที่จะไป เมื่อเทียบกับคนที่จะไปไม่กี่วัน

อีกประเด็นที่สำคัญ และเรามักจะพลาดกันคือ เราเป็นคนในพื้นที่หรือมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นหรือไม่ เพราะในบางกรณี บางจังหวัด จะไม่อนุญาตให้คนที่ไม่มีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นเข้าเลย แต่ถ้าเราเป็นคนพื้นเพอยู่ในจังหวัดนั้น แต่มาทำงานกรุงเทพ แล้วอยากกลับจังหวัดบ้านเกิด จังหวัดนั้นๆอาจจะผ่อนปรนให้เข้าได้  อย่าลืมอ่านดูดีๆนะครับว่า เข้าไปแล้วต้องถูกกักตัวหรือไม่

4. ถ้าอ่านดูแล้ว เจอว่า ต้องมีใบรับรองแพทย์ด้วย ถึงเดินทางได้ ทำอย่างไรดี

ตรงนี้ต้องอ่านดีๆครับ ว่า มาตรการของจังหวัดนั้นต้องการใบรับรองแพทย์ ว่าไม่เป็น COVID 19 ใช่ไหม หรือคือแค่ให้แพทย์รับรองว่าไม่มีอาการของ COVID19 ซึ่ง 2 กรณีนี้ต่างกันครับ กรณีแรก ถ้าต้องการให้แพทย์รับรองว่าไม่เป็นโรค COVID19 แพทย์มักจะต้องทำการตรวจหาเชื้อ COVID19  โดยใช้ไม้เก็บสิ่งส่งตรวจจากจมูกและลำคอ เพื่อส่ง Lab ในกรณีเช่นนี้ ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่สามารถเบิกได้ และต้องใช้เวลา 1-2 วันถึงจะได้ผล  ใบรับรองแพทย์แบบนี้จะมีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง ข้อดีคือแพทย์จะรับรองได้ด้วยความมั่นใจว่า ไม่เป็น COVID เพราะได้ตรวจเชื้อแล้ว แต่ไม่เจอ  

กรณีที่ 2 บางจังหวัดอาจต้องการใบรับรองแพทย์ว่า ไม่มีอาการของโรค COVID19 ก็พอ กรณีนี้แพทย์จะทำการซักประวัติ วัดไข้ และระบุเพียงว่า ขณะนี้ไม่มีอาการที่เข้าได้กับ COVID19 แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าไม่ติดเชื้อ หรือไม่มีเชื้ออยู่ เนื่องจากไม่ได้ตรวจตัวเชื้อโดยตรง

อย่างไรก็ตามในบางจังหวัด ต่อให้เรามีใบรับรองแพทย์ดังกล่าว อาจจะยังมีมาตรการบังคับให้ผู้เดินทางเข้าจังหวัดต้องกักตัว บางกรณี อาจกักที่บ้านที่พักของตัวเอง หรือบางกรณีอาจถูกกักที่ Local Quarantine ของทางราชการ ฯลฯ ซึ่งต้องดูรายละเอียดดีๆ 

5. จะขอคำปรึกษา หรือขอใบรับรองแพทย์ COVID19 ได้ที่ไหน

ถ้าต้องการใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าไม่เป็น COVID19 แนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่สามารถตรวจทางห้องปฏิบัติการได้เองจะดี และสะดวกกว่าครับ อย่างไรก็ตาม การขอตรวจ COVID19 ในกรณีเช่นนี้ไม่สามารถเบิกได้ เพราะไม่เข้าเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ผู้เดินทางจำเป็นต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งค่าตรวจก็จะแตกต่างกันไปขึ้นกับว่าไปตรวจที่โรงพยาบาลไหน

สำหรับที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน แพทย์จะทำการซักประวัติ ถามรายละเอียดแผนการเดินทาง  และช่วยให้คำปรึกษาครับ ว่าการเดินทางนั้นๆ ต้องเตรียมตัวอย่างไร และจำเป็นต้องใช้ใบรับรองแพทย์หรือไม่ ถ้าใช้ ใช้แบบไหน และต้องตรวจเชื้อ COVID19 หรือไม่ (ค่าตรวจหาเชื้อ COVID19 ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน จะเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด 3500 บาท ซึ่งรวมค่า Lab ค่าบริการ ฯลฯ ทุกอย่างแล้ว) อ่านขั้นตอนและรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่นี่

คำแนะนำอื่นๆที่สำคัญ

  • นอกจากมาตรการของจังหวัดปลายทางแล้ว ผู้เดินทางต้องหาข้อมูลของจังหวัดอื่นๆที่จำเป็นต้องเดินทางผ่านด้วยว่า มีมาตรการอะไรหรือไม่ และจะยอมให้เดินทางผ่านไปจังหวัดอื่นหรือไม่ หรือต้องแสดงเอกสารอะไรบ้าง
  • การมีใบรับรองแพทย์ ไม่ใช่หนังสือผ่านทาง ไม่สามารถจะยืนยันได้ว่าจะผ่านทุกด่าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจ้าพนักงานหน้าด่านเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการศึกษาข้อกำหนดต่างๆเป็นอย่างดี ใช้ใบรับรองแพทย์ที่น่าเชื่อถือ ถูกต้อง และจะได้รับความสะดวกมากกว่าเวลาเดินทาง 
  • การตรวจหาเชื้อ COVID19 ก่อนการเดินทาง แล้วผลเป็นลบ สามารถยืนยันได้ว่า ขณะที่ตรวจไม่มีเชื้อ อย่างไรก็ตามถ้ามีการเดินทางมาจากจังหวัดที่มีความเสี่ยง แนะนำให้ต้องสังเกตุอาการ 14 วัน ก่อนจะแน่ใจจริงๆว่าไม่ได้ติดเชื้อจากจังหวัดต้นทาง 
  • ระหว่างเดินทาง ความสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ล้างมือบ่อยๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อ 
  • ถ้าเดินทางโดยเครื่องบิน ให้ศึกษาข้อกำหนด หรือมาตรการในการเดินทางๆนั้นๆเสมอ ซึ่งตรงนี้จะมีรายละเอียดมาก ขึ้นอยู่กับสายการบิน และมาตรการของท่าอากาศยานแต่ละพื้นที่  ตาม website ด้านล่าง

Website ของสำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย https://www.caat.or.th/th/