นักเรียน นักศึกษาไทยส่วนใหญ่ที่จะไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษหรืออเมริกา มักจะถูกบังคับให้ตรวจ Tuberculin skin test ก่อนไปเรียน ซึ่งการตรวจนี้ยุ่งยากและสร้างปัญหาให้กับนักเรียนไทยไม่น้อย เพราะคนไทยถ้าตรวจไปแล้วผลมักจะบวก ทำให้ยุ่งยากในการแปลผล และอาจถูกเหมาว่าเป็นวัณโรคแฝง Latent TB ดังนั้นก่อนที่จะตรวจขอให้ศึกษาเรื่องนี้ให้ดีครับ ถ้าใครยังไม่ได้อ่าน แนะนำให้อ่านบทความนี้ก่อนครับ การตรวจคัดกรองวัณโรค Tuberculin skin test (TB skin test)
ถ้าใครไม่อยากอ่านโดยละเอียด หรืออ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็ไม่เป็นไรครับ ข้ามไปก็ได้ เพราะจริงๆมันเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจยากในเวลาอันสั้น แต่จะขอแนะนำหลักบางประการที่ควรพิจารณาก่อนตรวจ Tuberculin skin test ดังนี้ครับ
1. คำแนะนำแรกเลยครับคือ ถ้าไม่จำเป็นหรือเขาไม่ได้บังคับ ก็ไม่ควรตรวจครับ ให้ศึกษากฎระเบียบของสถาบันให้ชัด โดยปกติแล้วทางโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่เมืองนอกมักจะมีแบบฟอร์มมาให้นักเรียน/นักศึกษาอ่านเกี่ยวกับการคัดกรองวัณโรค อ่านดูดีๆนะครับว่า ในกรณีของเราจำเป็นต้องทำหรือไม่ เช่น ถ้าบอกว่า Tuberculin skin test is required for all students from country list in appendix 1. ในประโยคนี้ก็จะเห็นว่าจำเป็นต้องทำในนักเรียนทุกคนที่มาจากประเทศใน Appendix 1 ก็ลองไปดูนะครับว่ามีชื่อประเทศไทยหรือไม่
2. แต่ในบางโรงเรียน บางมหาวิทยาลัย หรือในบางรัฐ ไม่ได้บังคับให้ทำ โดยคำว่า Tuberculin skin test หรือ Mantoux test ไปอยู่ในหมวด Optional หรือ Recommended แปลว่าไม่ได้บังคับ ก็ไม่ต้องทำครับ หรือบางครั้งเขาอาจจะให้เลือกว่าจะคัดกรองวัณโรคด้วยไหน เช่น ให้ทำ TB skin test ก็ได้ หรือจะ X-ray ปอดแทนก็ได้ ในกรณีนี้ควรจะเลือกวิธี X-ray ดีกว่าครับ
3. ถ้าสมมุติอ่านดูแล้ว พบว่าจำเป็นต้องทำ ต้องดูดีๆอีกนะครับว่า ต้องทำตอนไหน และใครสามารถทำได้บ้าง เช่นลองดูข้อความข้างล่างที่ผมได้จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เห็นไหมครับ เขาเขียนชัดเจนว่าต้องทำ Tuberculin skin test ในนักศึกษาต่างชาติทุกคน แต่การทำ Test นั้นต้องทำในอเมริกา แปลว่า ไม่ต้องทำจากเมืองไทยไปครับ ถึงทำไปก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี และไม่ควรลองไปทำดูก่อนด้วย เพราะยิ่งทำหลายๆครั้ง Test จะออกมาเป็นผลบวก จะยิ่งแย่ไปใหญ่
4. ถ้าสมมุติว่าเขาให้ทำ Tuberculin skin test ในเมืองไทยได้ ต้องพิจารณาข้อกำหนดดีๆครับว่า ต้องทำไม่เกินกี่เดือนก่อนไปเรียน เพราะโดยปกติแล้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเมืองนอกจะระบุเลยว่า ห้ามทำก่อนไปนานเกิน 3 เดือน 6 เดือน ก็แปลว่า ถ้าเราจะไปเรียนเมืองนอกปีหน้า ก็อย่าเพิ่งรีบร้อนทำ ทำไปแล้วก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี รอไว้ทำใกล้ตามที่เขาระบุมาดีกว่าครับ
5. อย่างตัวอย่างในรูปด้านบน จะเห็นว่า มหาวิทยาลัยนี้ให้เลือกได้ว่าจะตรวจคัดกรองวัณโรคแบบไหน ถ้าจะทำ Skin test ต้องทำไม่เกิน 3 เดือนก่อนไปถึงอเมริกา ถ้าทำเป็น Quantiferon test (การตรวจคัดกรองโดยการตรวจเลือด) ต้องทำไม่เกิน 1 เดือน และจริงๆแล้วเขามีข้อให้ติ๊กได้ว่าไม่ขอตรวจก็ได้ ดังนั้นก่อนคิดจะตรวจต้องอ่านดีๆครับ
6. ถ้าอ่านดูแล้วคิดว่า จำเป็นต้องตรวจ ควรไปพบแพทย์ และต้องเอาใบเอกสารที่ทางโรงเรียน/มหาวิทยาลัยมาด้วย เพื่อให้คุณหมอช่วยดู ช่วยอ่านอีกครั้งครับ ว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และควรจะทำตอนไหน อย่าไปบอกคุณหมอเขาเฉยๆนะครับว่าจะมาตรวจ TB skin test ควรต้องให้เอกสารคุณหมอเขาดูด้วย และบอกให้คุณหมอช่วยพิจารณาอีกครั้ง จริงๆตรงนี้มีรายละเอียดอีกมากครับ เช่นบางมหาวิทยาลัยกำหนดเลยว่าต้องทำ Two steps TB skin test คือต้องทำ TB Skin 2 ครั้ง ห่างกันตามระยะเวลาที่กำหนด หรือบางมหาวิทยาลัยจะต้องให้บันทึกขนาดของปฏิกิริยาเป็น mm ด้วย ดังนั้นควรต้องให้แพทย์อ่านและพิจารณาก่อนเสมอครับ
7. ถ้าทำแล้ว ต้องมาฟังผลใน 48-72 ชั่วโมงครับ ถ้าผลออกมามีรอยนูนเกิน 10 mm จะถือว่า positive ซึ่งก็ไม่ต้องตกใจครับ คุณหมอมักจะแนะนำให้ทำการเอ๊กซ์เรย์ปอดดู และอาจจะเก็บเสมหะตรวจ ซึ่งถ้าผลออกมาปกติดี ก็จะสบายใจได้ว่าไม่ใช่ Active TB แน่ แต่การที่ TB Skin test ให้ผลบวก หมายถึงเราเคยได้สัมผัสเชื้อวัณโรคมาแล้วเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าเราเป็นวัณโรค
8. เมื่อทำ Tuberculin skin test แล้ว ก็แล้วกัน ไม่ควรทำซ้ำ หรือทำบ่อยๆ เพราะยิ่งทำซ้ำ ผลจะยิ่งเป็นบวก เพราะร่างกายเรารู้จักเชื้อมากขึ้น และนี่ก็เป็นที่มาว่า ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรไปทำ TB skin test ล่วงหน้า หรือทำนานเกินไปก่อนถึงเวลาไปจริง เพราะถ้านานไป เขาไม่ยอมรับผล ก็ต้องมาทำใหม่อยู่ดี และโอกาสที่ผลจะเป็นบวกมีสูงขึ้นด้วย
9. มีข้อควรระวังอีกอย่างครับ โดยเฉพาะในนักเรียน เนื่องจากปัจจุบันมีบริษัท หรือองค์กรต่างๆช่วยอำนวยความสะดวกในการสมัครเรียนต่อที่อังกฤษ อเมริกา ซึ่งนักเรียนมักจะต้องเตรียมการด้านสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ บางรายเตรียมตัว 1 ปี ล่วงหน้า มีใบมาให้ฉีดวัคซีนหลายชนิด และบางรายจะมีใบให้มาตรวจคัดกรองวัณโรคด้วย ซึ่งในบางครั้งยังไม่ทราบว่านักเรียนจะถูกจัดสรรให้ไปที่โรงเรียนอะไร อยู่เมืองไหน หรือรัฐใด ทำให้ไม่รู้ข้อกำหนดจริงๆว่า โรงเรียนที่นักเรียนจะได้ไปมีการบังคับให้ทำ Tuberculin skin test หรือไม่ หรือถ้าบังคับ ต้องไปทำที่โน่นเท่านั้นหรือไม่ หรือสามารถทำที่เมืองไทยได้ และถ้าทำได้ จะทำล่วงหน้าได้ไม่เกินกี่เดือน ตรงนี้เป็นประเด็นที่พบได้บ่อยครับ
10. ดังนั้นในนักเรียน นักศึกษาที่ยังไม่ทราบว่าจะได้ไปที่โรงเรียนใดหรือรัฐใด ทางคลินิกนักท่องเที่ยวของเรามักจะแนะนำครับว่า ให้รอดูก่อนว่าจะ matching ได้ที่โรงเรียนอะไร และเขาบังคับแค่ไหน แล้วค่อยมาว่ากัน การทำล่วงหน้าไปเลยนานๆ จะมีปัญหามากกว่า เช่น ทำไปแล้วก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี ต้องมาทำใหม่ และผลจะมีโอกาสเป็นบวกด้วย ซึ่งจะสร้างความยุ่งยากมากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม: ความรู้เบื้องต้น:การตรวจคัดกรองวัณโรค Tuberculin skin test
ได้ความรู้และเป็นประโยชน์มากครับ