จริงๆแล้วการป้องกันมาลาเรียในนักท่องเที่ยวมีหลักการง่ายๆครับ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำหลักการ 4 ข้อ คือ A,B,C,D ดังนี้ครับ
1 A (Awareness) คือต้องมีความระวัง หรือเข้าใจในความเสี่ยง คือต้องรู้ว่าตัวเองจะเข้าไปในดงมาลาเรียนั่นเอง ถ้าเราไม่รู้หรือไม่ aware ซะแล้ว ทุกอย่างก็จะลำบาก เวลาเรามีไข้หลังจากเที่ยวป่าเราก็จะไม่ไปหาหมอ ไม่ได้บอกหมอด้วยว่าไปป่ามา ทำให้การวินิจฉัยโรคล่าช้า และอาจเป็นอันตรายได้
2 B (Bite Prevention) ประเด็นนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญมากครับ ทุกคนทราบดีแล้วว่ามาลาเรียนำโดยยุงก้นปล่อง ถ้าเราป้องกันไม่ให้ยุงกัดได้ ก็จะไม่เป็นมาลาเรีย แต่เอาเข้าจริงๆหลายคนอาจจะละเลยประเด็นนี้ไป อย่างน้อยขอให้ใช้ยากันยุงนะครับ จะช่วยได้มากเลยทีเดียว และต้องทาทุกๆ 3-4 ชั่วโมงนะครับ ถึงจะได้ผลดี
3 C (Chemoprophylaxis when appropriate) คือการใช้ยาป้องกันมาลาเรีย แต่ไม่ได้ใช้พร่ำเพรื่อ หรือซื้อมากินเองได้นะครับ จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เสมอ แพทย์จะพิจารณาว่าจำเป็นต้องกินยาหรือไม่โดยดูจากหลายๆอย่าง เช่น ความเสี่ยงในพื้นที่นั้นๆ ระยะเวลา กิจกรรมที่จะทำ ฯลฯ และถ้าจำเป็นต้องกิน หมอจะแนะนำอย่างละเอียด นักท่องเที่ยวจะได้รู้ว่าทำไมต้องกิน จะกินอย่างไร กินยาอะไรดี กินนานแค่ไหน และอาจเกิดผลข้างเคียงอะไรบ้าง ฯลฯ
4 E (Early Diagnosis) ในแต่ละปี โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนรักษาผู้ป่วยมาลาเรียเป็นจำนวนมากครับ เรารู้ดีว่าจริงๆแล้วโรคมาลาเรียรักษาไม่ยาก ถ้าเรารีบรักษา การปล่อยให้มีไข้หลายๆวัน โดยไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักมากๆได้ ข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่องค์การอนามัยโลกเน้นเหมือนกัน คือนักท่องเที่ยวต้องรู้ว่ามาลาเรียจะมีอาการอะไรได้บ้าง และจะเกิดเมื่อไร เพื่อที่จะได้ไปหาหมอได้เร็ว บอกคร่าวๆในที่นี่ก่อนก็ได้ครับว่าอาการหลักของโรคมาลาเรียก็คือไข้ โดยเฉพาะไข้สูงหนาวสั่น ถ้ามีไข้หลังจากเดินทางในพื้นที่เสี่ยงต้องไปพบแพทย์เสมอครับ
หัวข้อแนะนำให้อ่านต่อ
Leave a Reply