Altitude sickness เป็นภาวะหรือโรคที่พบในนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปในพื้นที่ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลมากๆ เช่น ไปเที่ยวทิเบต เที่ยวประเทศเปรู โบลิเวีย หรือไปปีนเขาในประเทศเนปาล ฯลฯ ซึ่งโรคดังกล่าวเกิดจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้อยู่ในภาวะที่มีออกซิเจนน้อยได้ ทำให้เกิดอาการต่างๆตามมา เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ เหนื่อยง่าย ฯลฯ ซึ่งอาการอาจจะรุนแรงมากขึ้น จนอาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในรายที่ยังฝืนเดินทางขึ้นที่สูงต่อ และไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง ดังนั้นนักท่องเที่ยวทุกคนที่จะไปพื้นที่ดังกล่าว จึงควรรู้จักภาวะนี้และการป้องกันไว้บ้างเพื่อการท่องเที่ยวของเราจะได้ปลอดภัยและมีความสุข
อย่างไรก็ตามการจะเข้าใจโรคหรือภาวะดังกล่าวอาจจะยากสักหน่อย เพราะพวกเราคนไทยจะไม่คุ้นเคย จึงขอเริ่มด้วยข้อมูลพื้นฐานบางประการก่อนครับ
1. ในภูมิประเทศที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลมากๆจะมีความกดอากาศและมีออกซิเจนเบาบาง เมื่อเทียบกับระดับน้ำทะเล ทำให้เมื่อเราไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ร่างกายจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมให้ได้ ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายเรามีความสามารถในการปรับตัวให้ทนต่อภาวะออกซิเจนน้อยได้ดีระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ถ้าไปในที่สูงมากๆหรือออกซิเจนน้อยมากๆอาจจะเกิดปัญหาได้
2. ตัวอย่างที่ดีที่แสดงว่าร่างกายเราสามารถปรับตัวได้ดีคือ เมื่อเรานั่งเครื่องบิน ซึ่งเครื่องบินโดยสารส่วนใหญ่บินที่ระดับความสูง 30,000-40,000 ฟุต หรือกว่า 10,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ที่ระดับความสูงขนาดนั้น ออกซิเจนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต แต่ในห้องโดยสารของพวกเราจะมีการปรับความดันอากาศให้เหมาะสม โดยจะปรับความดันอากาศมาอยู่ที่ประมาณ 2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล จะเห็นว่าไม่ได้ปรับมาที่ระดับน้ำทะเลเสียทีเดียว แต่ที่ 2,000 เมตรนั้น แม้ว่าจะมีออกซิเจนประมาณ 77% ของปกติ ร่างกายพวกเราปกติสามารถปรับตัวได้ ทำให้พวกเราเวลานั่งเครื่องบินสามารถหายใจได้ตามปกติ ไม่ต้องใช้ oxygen
3. ภาวะ altitude sickness มักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความสูงมากกว่า 2,000-2,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางเป็นต้นไป ซึ่งยิ่งขึ้นไปที่สูงมากจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดังกล่าวมากขึ้น เช่น ถ้าสถานที่นั้นสูงกว่า 3,000 เมตร จะมีความดันออกซิเจนเพียงประมาณ 70 % เมื่อเทียบกับในระดับน้ำทะเล ลองดูตัวอย่างสถานที่ท่องเที่ยวที่จัดว่าอยู่ในพื้นที่สูง ตามตารางข้างล่างครับ
สถานที่ | ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล (เมตร) | ความสูง (ฟุต) |
กรุงเทพมหานคร | 0 | 0 |
เมืองตาลี่ ประเทศจีน | 2,000 | 6,562 |
เมืองลี่เจียง ประเทศจีน | 2,400 | 7,874 |
ยอดดอยอินทนนท์ เชียงใหม่ | 2,565 | 8,415 |
เมืองคุซโก เปรู | 3,399 | 11,152 |
เมืองลาซา ทิเบต | 3,490 | 11,450 |
เมืองเลห์ อินเดีย | 3,524 | 11,562 |
เมืองลาปาซ ประเทศโบลิเวีย | 3,670 | 12,000 |
Everest Base Camp | 5,400 | 17,700 |
4. นักท่องเที่ยวแต่ละคนจะเกิดอาการ High altitude sickness แตกต่างกัน บางคนสามารถปรับตัวได้ดี ดังที่เราจะเห็นเวลาไปเที่ยวกับเป็นหมูคณะ เช่นไปทิเบต หลายคนจะมีอาการไม่สบาย มึนศีรษะ ในขณะที่บางคนอาจจะไม่เกิดอาการใดๆ หรือเกิดเพียงเล็กน้อยก็ได้
5. ความเสี่ยงที่นักท่องเที่ยวจะเกิด altitude sickness หรือไม่นั้น ไม่ขึ้นอยู่กับ อายุ เพศ ความฟิตของร่างกาย ฯลฯ และไม่สามารถคาดการได้ล่วงหน้าว่าใครสามารถปรับตัวได้ดีกว่า แสดงว่า แม้แต่นักกีฬาที่แข็งแรงอาจเกิดอาการ altitude sickness ได้ ในทางตรงกันข้าม ผู้สูงอายุบางคนเมื่อไปเที่ยวที่สูงๆอาจจะไม่มีอาการใดๆเลยก็ได้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำนายได้
6. อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่เคยไปเที่ยวในพื้นที่สูงมาก่อนจะช่วยในการทำนายได้ หมายความว่า ถ้าใครเคยไปเที่ยวที่สูงมาแล้วเช่น ไปทิเบตมาแล้วไม่มีปัญหาใดๆ ก็น่าจะไปเที่ยวในที่สูงระดับเดียวกันได้ และในทางกลับกัน ถ้าใครเคยไปเที่ยวที่สูงแล้วมีปัญหา การไปที่สูงครั้งต่อไปก็มักจะเกิดปัญหาเหมือนครั้งเดิม จึงต้องมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดีก่อนเดินทาง
ในบทความต่อไปจะกล่าวถึง อาการของ altitude sickness และแนวทางป้องกันครับ
[…] – ศรีนาคา – ข้อมูลอาการ AMS ภาษาไทย 1, […]
[…] (Thai) Altitude Sickness #1 โรคที่ต้องระวังในพื้นที่… LinkTravel Clinic/คลินิกนักท่องเที่ยวชมรมเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยFaculty of Tropical Medicine, Mahidol UniversityFollow us on FacebookRSS feedStatPressTotal visitors 56723 […]
[…] […]