บทความนี้จะขอกล่าวในรายละเอียดของภาวะ Altitude sickness สักเล็กน้อยเพื่อความเข้าใจในในการป้องกัน และการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการของโรคขึ้น ถ้าใครยังไม่ได้อ่านบทความก่อนหน้านี้ (Altitude sickness #1 โรคที่ควรระวังในการเที่ยวที่สูง) ขอแนะนำให้กลับไปอ่านก่อนครับ จะได้เข้าใจยิ่งขึ้น
อาการของ High Altitude Sickness
จริงๆแล้ว High altitude sickness เป็นการกล่าวถึงกลุ่มโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ในภาวะที่มีออกซิเจนน้อย ซึ่งประกอบด้วย 3 โรคหลักๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์และมีความต่อเนื่องกันอยู่ในบางส่วนครับ คือ
1 Acute Mountain Sickness (AMS) ยังไม่มีชื่อภาษาไทยครับ เป็นโรคที่มีความรุนแรงไม่มาก เกิดเมื่อมีการเดินทางขึ้นไปที่สูง โดยทั่วไปต้องมากกว่า 2500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งจะมีอาการปวดศีรษะ มึนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการเด่นของภาวะนี้ อาการอื่นๆที่พบได้บ่อยคือ นอนไม่หลับ เหนื่อย หายใจเร็ว โดยอาการต่างๆเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากขึ้นไปที่สูงประมาณ 4-10 ชั่วโมง ที่พบบ่อยคือเกิดขึ้นในคืนแรกที่ขึ้นไปที่สูง โดยทั่วไปอาการจะไม่รุนแรงมาก และร่างกายจะค่อยๆปรับตัวได้เองภายใน 1-2 วัน
2 High Altitude Cerebral Edema (HACE) หรือภาวะสมองบวมจากการอยู่ในพื้นที่สูง เป็นภาวะที่เกิดต่อเนื่องจากภาวะ AMS โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ เห็นภาพซ้อน ถ้ามีอาการรุนแรงมากจะมีชัก หมดสติ จนถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้นถ้ามีอาการดังกล่าวต้องรีบพบแพทย์ และเดินทางลงสู่ในพื้นที่ต่ำกว่าทันที
3 High Altitude Pulmonary Edema (HAPE) คือภาวะปอดบวมน้ำจากการอยู่ในพื้นที่สูง เป็นภาวะที่รุนแรงซึ่งอาจเกิดขึ้นเดี่ยวๆหรือเกิดขึ้นร่วมกับภาวะ HACE ก็ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก อยู่เฉยๆก็เหนื่อย ภาวะนี้ทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นถ้าเกิดภาวะดังกล่าวขึ้น ต้องรีบพบแพทย์และเดินทางลงสู่พื้นที่ต่ำกว่าทันที
อนึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางไปพื้นที่สูงโดยทั่วๆไป เช่นไปเมืองลาซา คุซโก โบลิเวีย ทิเบต ส่วนใหญ่ จะมีอาการ Acute mountain sickness เท่านั้น ถ้าได้มีการพัก และร่างกายปรับตัวได้ดี มักจะไม่เกิดภาวะ HACE และ HAPE ขึ้น อย่างไรก็ตามต้องหมั่นสังเกตอาการของตนเองและเพื่อนร่วมทางเสมอว่าเกิดอาการผิดปกติใดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วง 1-3 วันแรกหลังจากขึ้นไปที่สูง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการที่รุนแรงตามมา
หลักการทั่วไปในการป้องกันภาวะ Altitude Sickness
1. ต้องศึกษาข้อมูลถึงสถานที่ที่จะไปก่อนการเดินทางครับว่า สถานที่ที่จะไปอยู่ในพื้นที่สูงมากหรือไม่ เช่น ถ้าจะไปเที่ยวทิเบต ภูฏาน เนปาล เปรู โบลิเวีย ประเทศเหล่านี้มักมีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่สูงอยู่มาก ควรหาข้อมูลถึงระดับความสูง และดูแผนการเดินทางของเราเสมอ ว่าจะต้องผ่านในพื้นที่สูงมากหรือไม่ เช่น
- ถ้าจะไปเที่ยวเนปาล ไปแค่เมืองหลวงกาฐมัณฑุ (1400 m) โปขระ (827 m) นาการ์ก็อต (2195 m) มักจะไม่มีปัญหาใดๆ เพราะอยู่ไม่อยู่มาก แต่ถ้าจะไป trekking ที่ Annapura circuit ที่ Poon Hill (3210m) หรือผ่าน Thorung La (5400m) ต้องเตรียมตัวอย่างดีครับ
- การไปเที่ยวขึ้นยอดเขาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เช่น Pilatus (2132m) Titlis (3028m) หรือ Jungfrau (3571 m) มักจะไม่มีปัญหา high altitude sickness เนื่องจากเราจะนั่ง cable หรือรถไฟขึ้นไป และอยู่บนยอดเขาไม่นาน และลงมาสู่ที่ต่ำกว่าเวลาไม่กี่ชม. ร่างกายมักจะทนได้
- ถ้าจะไปเที่ยวเปรู ไปมาชุปิชู (Machu Picchu) อย่างไรก็ต้องไปเมือง Cusco (3399 m) ซึ่งมักจะนั่งเครื่องบินไปจากเมืองลิมา (ระดับน้ำทะเล) นักท่องเที่ยวมักจะมีอาการ altitude sickness ในช่วง 1-2 วันแรกที่ Cusco เพราะร่างกายยังปรับตัวไม่ทัน แต่พอพ้นช่วงแรกแล้ว และไปเที่ยว มาชูปิชู (2430 m) มักจะไม่มีปัญหาใดๆ เพราะอยู่ที่ระดับความสูงต่ำกว่า Cusco อีก
- ถ้าจะไปประเทศจีน บางเมืองจะอยู่ในที่สูง ต้องศึกษาก่อนเสมอ เช่นไป ลี่เจียง (2400 m) ภูเขามังหยก (3356 m) ทิเบต (3490m) ควรต้องเตรียมตัว
- ถ้าจะไปเที่ยวเลห์ ลาดักห์ บริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตอินเดียตอนเหนือ เป็นพื้นที่สูง ตัวเมืองเลห์เองอยู่สูงประมาณ 3500 m เหนือระดับน้ำทะเล นอกจากนี้นักท่องเที่ยวมักจะไปเที่ยวที่ต่างๆด้วย ไม่ว่าจะเป็น Pungong lake (4350m) และต้องเดินทางผ่านช่องเขา Changla Pass (5360m) ควรจะต้องเตรียมตัวก่อนไปเที่ยวเสมอ
2. ร่างกายต้องการเวลาปรับตัว (Acclimatization)ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรเลือกแผนการเดินทางที่ไม่ขึ้นสู่ที่สูงเร็วเกินไป ควรพักที่เมืองที่อยู่ต่ำกว่า 1-2 วันเพื่อปรับตัว
3. ถ้าจำเป็นต้องเดินทางขึ้นสู่ที่สูงอย่างรวดเร็ว เช่น นั่งเครื่องบินจากลิมาไปคุซโก (3399 m) นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่ง (ประมาณ 20-25%) มักจะมีอาการ ดังนั้นในช่วงแรกๆที่ขึ้นไปที่สูง ควรงดการออกกำลัง เดิน หรือวิ่ง ควรพักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำบ่อยๆ และสังเกตอาการของตัวเองว่ามีความผิดปกติใดๆหรือไม่ ถ้ามีอาการของ AMS เพียงเล็กน้อย เช่นปวดศีรษะ คลื่นไส้ นอนไม่หลับ ร่างกายค่อยๆปรับตัวได้ และอาการจะหายไปเองใน 1-2 วันแต่ถ้ามีอาการรุนแรงมากขึ้น ควรพบแพทย์ และเดินทางสู่ที่ต่ำกว่าทันที
4. การใช้ยาเพื่อป้องกัน altitude sickness เช่น Acetazolamide (diamox) ในนักท่องเที่ยวบางรายมีความจำเป็น เพราะยาจะช่วยป้องกันและลดบรรเทาอาการได้ แต่การใช้ยาควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะแพทย์ต้องพิจารณาแผนการเดินทาง ข้อบ่งชี้ ข้อห้ามในการใช้ยา และแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้อง
- ข้อมูลเพิ่มเติม เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับยา Diamox (Acetazolamide)
5. ในนักท่องเที่ยวที่ปีนเขา หรือ Trekking ในที่สูง ต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำในพื้นที่อย่างเคร่งครัด ไม่ควรรีบเดินหรือทำเวลาก่อนเวลาที่แนะนำไว้โดยทั่วไป เช่นถ้าจะปีนยอดเขาคีรีมันจาโร (5895m) ควรมีการเตรียมทีม เตรียมอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ต่างๆที่จำเป็น และควรเดินทางตามที่กำหนดไว้ ไม่ควรจะรีบปีนโดยใช้เวลาน้อยกว่า 5 วัน เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะปีนไปไม่ถึง และเกิดการไม่สบายกลางทาง
6. ถ้ามีอาการแพ้ความสูงเกิดขึ้น ควรระมัดระวัง และสังเกตุอาการตนเองและเพื่อนร่วมทางเสมอ ถ้ามีอาการไม่มาก เช่น ปวดศีรษะ มึนศีรษะ อ่อนเพลีย ควรพัก ถ้าเป็นแค่ Acute mountain sickness ร่างกายจะค่อยๆปรับตัวได้เอง แต่ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น เหนื่อยมาก ไอ สับสน ปวดศีรษะ มึนงงมาก ต้องรีบลงสู่พื้นที่ที่ต่ำกว่า และหาสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
[…] Link: – สรุปทริป เลห์ – ศรีนาคา – ข้อมูลอาการ AMS ภาษาไทย 1, 2 […]
[…] มักจะมีปีญหา Altitude sickness หรือ โรคแพ้ความสูง ควรศึกษา […]
[…] อาการและการป้องกันดูรายละเอียดตามนี้เลยค่ะ https://www.thaitravelclinic.com/blog/th/other-travel-tips/altitude-sickness2-symptoms-and-preventio…. […]
[…] (Thai) Altitude Sickness #2 อาการและการป้องกัน […]
[…] (Thai) Altitude Sickness #2 อาการและการป้องกัน (Thai) […]