เวลาเราไปเล่นน้ำทะเล มักถูกเตือนเสมอว่าให้ระวังแมงกะพรุนไว้ด้วย ซึ่งก็เป็นสิ่งดีครับ ที่ต้องระวังไว้ก่อน โดยเฉพาะการไปเล่นน้ำทะเลในบางที่ บางฤดูกาล ซึ่งจะมีแมงกะพรุนชุกชุมมาก ถ้าเลี่ยงได้ก็จะเป็นสิ่งดี เพราะถ้าใครถูกแมงกะพรุนเข้าไปแล้ว จะไม่สนุกเลยทีเดียว
ก่อนที่จะมาถึงวิธีการดูแลรักษาพิษจากแมงกะพรุน เรามารู้เรื่องราวเกี่ยวกับแมงกะพรุนกันสักนิดก่อน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันครับ
1 จริงๆแล้วแมงกะพรุนมีหลายชนิดมาก ชนิดที่เราคุ้นเคยกัน กินได้ และเห็นอยู่ตามหม้อสุกี้หรือเย็นตาโฟ ส่วนใหญ่และเป็นแมงกะพรุนหนัง หรือแมงกะพรุนจาน พวกนี้ไม่น่ากลัว แต่แมงกะพรุนที่เรากลัวคือ แมงกะพรุนไฟ ซึ่งตัวจะออกคล้ำๆแดงๆ ซึ่งจะมีพิษ แต่เราไม่ควรดูแค่สีหรือรูปร่างของแมงกะพรุนนะครับว่ามีพิษหรือไม่ ให้พยายามนึกไว้เสมอว่าแมงกะพรุนนั้นมีพิษ อยู่ไกลๆมันจะดีกว่า
2 พิษของแมงกะพรุนจะอยู่ที่สายหรือหนวดของมัน ซึ่งจะมีเข็มพิษอยู่จำนวนมาก ในบางครั้งเวลาเราเล่นน้ำทะเล เราอาจจะไม่เห็นตัวมัน แต่โดนแค่สายหรือหนวดมันซึ่งหลุดออกมาจากตัวเรากูถูกพิษได้
3 พิษของแมงกะพรุนแต่ละชนิดจะไม่เหมือนกัน บางชนิดมีความรุนแรงมากทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันสั้นได้โดยเฉพาะ Box Jellyfish แต่แมงกะพรุนส่วนใหญ่จะทำให้เกิดปัญหาที่ผิวหนัง ทำให้เกิดการปวดแสบปวดร้อน และผิวหนังอักเสบตามมา
ลองมาดูลักษณะผิวหนังที่ถูกพิษของแมงกะพรุนครับ
ถ้าจะสังเกต ดีๆทั้ง 2 ภาพ ลักษณะแผลจะเป็นทางยาว ตามแนวของหนวดแมงกะพรุนที่พาดผ่าน บางรายแผลอาจรุนแรงกว่านี้มาก เช่นมีการพุพอง แดง และอักเสบมาก ขึ้นอยู่กับจำนวนพิษ และการดูแลรักษาเบื้องต้นซึ่งมีความสำคัญมาก
ทีนี้เราลองมาดูกันครับว่าเมื่อถูกแมงกะพรุนแล้วควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไรดี
1 อย่างแรกเลย ถ้าถูกแมงกะพรุน ควรรีบขึ้นจากน้ำทันที ไม่ควรฝืนเล่นน้ำต่อ เพราะอาการอาจจะรุนแรงขึ้น มีการแพ้และถึงกับจมน้ำได้ เพื่อนๆเองที่เล่นน้ำอยู่ใกล้ๆ ก่อนจะเข้าไปช่วย สังเกตสังนิดนะครับว่ามีแมงกะพรุนอยู่หรือไม่ เพราะบางครั้งเราเขาไปช่วยเพื่อนแบบไม่ระวัง อาจจะถูกแมงกะพรุนอีกคนก็ได้
2 ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง หมดสติหรือหยุดหายใจ ให้รีบตามคนช่วยเหลือ และช่วยฟื้นคืนชีพทันที
3 ควรใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณแผลโดยเร็ว น้ำส้มสายชูจะช่วยยังยั้งไม่ให้เข็มพิษแตกเพิ่มขึ้น ห้ามถู หรือสัมผัสบริเวณแผลด้วยมือเปล่า เพราะอาจจะมีเข็มพิษอยู่ ถ้ายังมีหนวดติดอยู่ให้เอาออกด้วยความระมัดระวัง โดยใช้ที่คีบ
4 ถ้าไม่มีน้ำส้มสายชูให้ล้างด้วยน้ำทะเล ไม่ควรใช้น้ำอย่างอื่นล้าง ไม่ว่าจะเป็นน้ำจืด น้ำปัสสาวะ น้ำมันต่างๆ
5 ถ้ามีอาการรุนแรงให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาต่อไป
6 แม้ว่าถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง ต้องสังเกตอาการต่ออย่างน้อย 1 ชั่วโมง เนื่องจากพิษของแมงกะพรุนบางชนิด โดยเฉพาะ Irukandji ในช่วงแรกอาการจะไม่รุนแรง และจะมารุนแรงภายหลังได้
เหล่านี้เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกแมงกะพรุน คนที่เล่นน้ำทะเลบ่อยๆต้องจำไว้นะครับ สำหรับการรักษาอื่นๆ โดยเฉพาะการใช้ผักบุ้งทะเล จะต้องใช้อย่างไร และจะใช้ได้ผลหรือไม่ อ่านต่อได้ที่บทความนี้ครับ การรักษาพิษของแมงกะพรุนด้วยผักบุ้งทะเล
กำลังจะพาลูกไปเที่ยวทะเล เลยต้องมาเก็บข้อมูลดีไว้ก่อน กันไว้ดีกว่าแก้