ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ เราคงเคยได้ยินชื่อโรคโรคหนึ่งที่คนทั้งโลกและสื่อต่างๆให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีการระบาดครั้งใหญ่ในกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตก (West Africa) ในปี 2014-2016 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 10,000 กว่าราย และในเหตุการณ์เดียวกันนี้เอง องค์การอนามัยโลกได้ยกระดับเหตุการณ์ขึ้นเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) เพื่ออาศัยความร่วมมือระดับนานาชาติในการร่วมกันรับมือกับเหตุการณ์ระบาดครั้งนั้น
เรากำลังจะพูดถึง โรคอีโบลา (Ebola) ครับ ถึงแม้ว่าโรคนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยก็ตาม แต่ก็ไม่ควรละเลยที่จะทำความรู้จักกับมัน มาดูกันว่า 9 เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคอีโบลามีอะไรกันบ้าง
- อีโบลา เป็นชื่อของแม่น้ำสายหนึ่งในประเทศสาธารณรัฐซาอีร์ (Zaire) ซึ่งปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of Congo) หรือเรียกง่ายๆว่า DRC โดยพบว่ามีการระบาดของไข้เลือดออกชนิดหนึ่งในปี 1976 (โดยในขณะนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด) ในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับแม่น้ำสายนี้ ซึ่งต่อมาถูกค้นพบว่าเกิดจากเชื้อไวรัส จึงตั้งชื่อว่า เชื้อไวรัสอีโบลา
- เชื้อไวรัสอีโบลานี้ ทำให้เกิดการระบาดในแถบประเทศแอฟริกามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1976 จนกระทั่งในปี 2014 เกิดการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเชื้อไวรัสอีโบลา ในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ Guinea, Liberia และ Sierra Leone เป็นเหตุให้มีผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมไปถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานในพื้นที่ด้วยเช่นกัน การระบาดครั้งใหญ่ครั้งนี้เกิดจากระบบการเฝ้าระวังและการควบคุมโรคยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอรวมไปถึงมีการแพร่กระจายโรคเข้าสู่เขตเมืองซึ่งเป็นแหล่งที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น
- เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างผลกระทบมากและสร้างความตื่นตระหนกไม่น้อย เนื่องจากเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุด กินเวลาถึง 2 ปี (2014-2016) มีผู้ป่วยรวมกันถึง 28,646 คน เสียชีวิตถึง 11,323 คน และได้พบผู้ป่วยนอกทวีปแอฟริกา รวมทั้งมีการนำผู้ป่วย ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์กลับไปรักษาเช่น ที่สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แต่ก็โชคดีที่สามารถควบคุมโรคได้
- โรคอีโบลา เป็นโรคที่ติดต่อจากคนสู่คน (Human to human transmission) โดยการสัมผัสเลือกหรือสารคัดหลั่ง (ปัสสาวะ, น้ำลาย, เหงื่อ, อุจจาระ, อาเจียน, น้ำนม หรือน้ำอสุจิ) ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อและ “มีอาการ”ของโรคหรือผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลานั่นหมายความว่า เชื้อจะแพร่กระจายได้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยต้องแสดงอาการของโรคออกมาให้เห็นแล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าเชื้ออีโบล่ายังสามารถอยู่ในสารคัดหลั่งบางอย่างได้นาน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าสัตว์บางอย่างอาจเป็นรังโรค ได้แก่ ค้างคาวผลไม้ (Fruit Bat) หรือ ลิง เป็นต้น
- อาการของการติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยทั่วไปจะมีอาการเหมือนการติดเชื้อไข้เลือดออก ซึ่งจะมีอาการไม่เฉพาะเจาะจง ประกอบไปด้วย อาการไข้, ปวดศีรษะ, ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว แต่อาการจะรุนแรงขึ้นมีเลือดออก ตาเหลืองตัวเหลือง การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว ให้สงสัยในผู้ที่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาและ/หรือมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยทั่วไปจะเริ่มมีอาการตั้งแต่ 2-21 วันภายหลังจากสัมผัสกับเชื้อ โรคนี้มีความรุนแรงมาก มีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 50%
- ปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจงสำหรับโรคนี้ การรักษาทำได้เพียงรักษาแบบประคับประคอง การคัดแยกผู้ป่วยอย่างเหมาะสม ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอีโบลาแล้ว และมีใช้ในบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในพื้นที่ระบาด วัคซีนนี้ยังไม่มีใช้ในคนทั่วไป
- การป้องกันเชื้อไวรัสอีโบลาสำหรับคนไทยคือ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ ซึ่งก็คือไม่ควรเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา หากไม่มีความจำเป็น หรือหากจำเป็นต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดจริงๆ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งค้างคาวผลไม้ หรือลิง เป็นต้น เพราะหากเราเกิดเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดแล้วเกิดติดเชื้อขึ้นมา แล้วเดินทางกลับมาในประเทศไทย จะมีผลต่อระบบสาธารณสุขในประเทศเราเป็นอย่างมาก
- ล่าสุดเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of Congo) ตั้งแต่กลางปี 2018 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยเฉพาะในNorth Kivu and Ituri provinces ดูรายละเอียดการระบาดล่าสุดได้ที่นี่ โดยขณะนี้ (20 มกราคม 2562) พบผู้ป่วยแล้วกว่า 689 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 442 ราย ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ ดังนั้นนักท่องเที่ยวชาวไทยควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of Congo) ในช่วงนี้ครับ ซึ่งก็โชคดีที่ประเทศ DRC ไม่ใช่ประเทศที่คนไทยนิยมไปเที่ยว ส่วนใหญ่ถ้าจะไปแถบนั้นมักจะไปรวันดา หรืออูกันดามากกว่า อย่างไรก็ตามควรติดตามสถานการณ์ระบาดอย่างใกล้ชิด
- ประเทศไทยมีการประกาศให้โรคอีโบลา เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ 2558 เพราะโรคนี้จะส่งผลกระทบต่อประเทศได้มากถ้ามีการระบาดในประเทศ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขมีการติดตามข่าวการระบาด และมีระบบเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
หากเราทราบข้อมูลเบื้องต้นของเชื้อไวรัสตัวนี้แล้ว เราก็จะตระหนักถึงความสำคัญ แต่ยังไม่ต้องตื่นตระหนกไปครับ เพราะประเทศไทยไม่ได้มีโรคนี้ แค่รู้จักมัน รู้วิธีป้องกันและหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของเราเองและความปลอดภัยของประเทศเราด้วยครับ
thanks for knowledge about ebola