คำถามนี้เป็นคำถามที่ถามเข้ามามากในคลินิกนักท่องเที่ยวของเรา ซึ่งจริงๆตอบยากครับ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และสถานการณ์ในขณะนั้น ซึ่งต้องติดตามกันเป็นวันต่อวัน ในขณะนี้ (31 ธันวาคม 2563) สถานการณ์ของประเทศไทยไม่สู้ดี มีการระบาดระลอกใหม่ ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพบการติดเชื้อภายในประเทศเป็นหลักร้อยกว่าคนต่อวัน มีจังหวัดที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก หลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นสมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงชัดเจน เช่น สัมพันธ์กับตลาดกุ้ง หรือไปบ่อนการพนัน หรือมีความเชื่อมโยงกับการระบาดเป็นกลุ่มก้อนอื่นๆ ฯลฯ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการติดเชื้อในชุมชน สถานการณ์เช่นนี้โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จึงแหลมคมและท้าทายเป็นอย่างยิ่งต่อการควบคุมโรคในภาพใหญ่ของประเทศ
แล้วตอนนี้เราควรจะทำอย่างไร ไปเที่ยวได้ไหม ไปอย่างไรดี ทางคลินิกมีข้อแนะนำเบื้องต้นดังนี้ครับ
1. พิจารณาความจำเป็นในการเดินทางก่อนเลยครับ ว่าจำเป็นต้องเดินทางช่วงนี้มากน้อยแค่ไหน จะเลื่อนหรือรอก่อนได้ไหม
สถานการณ์ณ.ตอนนี้ แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการ lock down แต่มีรายงานผู้ติดเชื้อกระจายไปหลายจังหวัด การเดินทางไปในสถานที่ต่างๆย่อมหนีไม่พ้นต้องพบปะผู้คน ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ดังนั้นถ้าการเดินทางนั้นไม่จำเป็นมาก เช่น อยากไปเที่ยว ไปพักผ่อน แนะนำให้งดการเดินทางไปก่อนครับ
ถ้าใครยังจำได้ ในการระบาดระลอกแรก มีการรณรงค์กันว่าอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ นับว่ายังทันสมัยและเป็นจริงอยู่ครับในสถานการณ์ปัจจุบัน หลีกเลี่ยงการเดินทางได้ก็ดีครับในช่วงนี้
2. ถ้าจำเป็นต้องเดินทาง พิจารณาที่เที่ยวดีๆ ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ควรเลือกสถานที่มีความเสี่ยงน้อย จะได้เที่ยวได้อย่างสบายใจ
ตรงนี้จะเกิดคำถามขึ้นว่า แล้วสถานที่ไหนถือว่าปลอดภัย หรือเลือกไปในจังหวัดที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วยดีไหม ตรงนี้มีความจริงข้อหนึ่งที่ต้องรู้เลยครับ จะได้ไม่เข้าใจผิดกัน คือ เชื้อ COVID19 นั้นไม่ได้อยู่ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง แต่เชื้อ COVID19 อยู่ในคนที่มีเชื้ออยู่ ดังนั้นเมื่อจะไปเที่ยวให้พิจารณาว่าเรามีโอกาสจะเจอคนที่ติดเชื้ออยู่ในที่นั้นหรือไม่ รวมถึงมีโอกาสไหมที่เราจะสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลายของคนที่ติดเชื้อในสถานที่นั้น
ตรงนี้มีรายละเอียดบางอย่างต้องขยายความครับ
- การเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดอยู่ย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าไปในพื้นที่ที่ไม่มีรายงาน เพราะเป็นไปได้ที่อาจมีคนที่มีการติดเชื้อแบบไม่มีอาการในชุมชนนั้นๆ และไม่มีใครทราบ
- อย่างไรก็ตามสถานการณ์ณ.ตอนนี้ ที่ประเทศไทยเริ่มมีการระบาดเป็นวงกว้าง ทางที่ดี คือเราต้องระวัง ยกการ์ดสูง คือต้องคิดไว้เสมอว่าทุกคนอาจมีเชื้ออยู่ในตัว ดังนั้นแปลว่า ถ้าเราเดินทางไปในที่ที่มีคนมากๆ และคนมาจากหลายจังหวัด หลายพื้นที่ ย่อมมีความเสี่ยงที่คนเหล่านั้นจะเอาเชื้อมาให้เรา โดยที่เราหรือเขาไม่รู้ตัว เพราะการติดเชื้อ COVID19 ส่วนหนึ่งไม่มีอาการผิดปกติใดๆเลย
- สถานที่เที่ยวที่นับว่าปลอดภัย ความเสี่ยงน้อย คือ สถานที่ที่โล่ง ไม่แออัด และไม่ค่อยมีคน เช่น สมมุติเราไปเที่ยวภูกระดึง เขาใหญ่ หรือป่าต่างๆ ไปเป็นกลุ่มเล็กๆ และไปในช่วงที่ไม่ค่อยมีคนเที่ยว จะปลอดภัย ในทางกลับกัน ถ้าเราไปในช่วง peak ลานกางเต้นท์แน่นเต็ม เช้าต้องต่อคิวรอห้องน้ำ เวลาเดินเที่ยวไปจุดถ่ายรูปต่างๆ ก็มีการรอคิวถ่ายรูปแน่นเอี๊ยด ลักษณะเช่นนี้จะมีความเสี่ยง เห็นไหมครับว่าแม้ว่าไปในสถานที่เดียวกัน แต่คนละช่วงเวลาความเสี่ยงจะไม่เท่ากัน
- ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัด มีการรวมกลุ่มคนมากๆ และมีกิจกรรมที่อาจมีการแพร่เชื้อได้ง่าย เช่น งาน event ต่างๆงานคอนเสิร์ต สนามมวย สนามม้าแข่ง บ่อนการพนัน ฯลฯ
3. อย่าลืม ระวังความเสี่ยงระหว่างการเดินทาง และการแวะพักระหว่างทาง
ในช่วงเทศกาล ผู้คนย่อมมีการเดินทางอย่างหนาแน่น ซึ่งย่อมมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ COVID ดังนั้นคำแนะนำง่ายๆ แต่ยังจำเป็นมากๆครับ คือทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้คน ให้มีระยะห่างเสมอ เช่นเมื่อเราแวะปั๊มน้ำมัน แล้วมีคนจำนวนมากรอเข้าห้องน้ำ หรือซื้อของ ก็ควรจะต่อคิวแบบมีระยะห่าง ไม่ควรอยู่ใกล้กันเกินไปครับ หรือถ้าปั้มนี้เห็นคนแน่น อาจเลือกไปปั้มที่คนแน่นน้อยกว่า
อีกอย่างเมื่อมือเราสัมผัสพื้นผิวบริเวณที่มีคนหมู่มากสัมผัสหรือใช้ด้วยกัน เช่นลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟท์ ถ้าเป็นไปได้ควรล้างมือ และไม่ควรเอามือที่ยังไม่ได้ล้าง จับหน้า จับจมูก หรือจับอาหารเข้าปาก ให้คิดและระวังไว้เสมอว่า คนก่อนหน้าเรา เขาอาจมีเชื้อ COVID อยู่ และมือเขาอาจปนเปื้อนและไปจับลูกบิดประตู เชื้ออาจอยู่ที่ลูกบิดประตูนั้น จริงๆเชื้อ COVID อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือพื้นผิวต่างๆ ได้นานไม่เท่ากัน เชื้อที่มีอำนาจในการแพร่มากที่สุด คือเชื้อใหม่ๆที่มาจากคนติดเชื้อ ดังนั้นประตูหรือลูกบิดที่มีคนใช้มากๆย่อมเสี่ยงกว่า
4. เลือกอาหาร และวิธีการกินที่ปลอดภัย
อาหารที่ปลอดภัย คืออาหารที่สุก สะอาดและผ่านความร้อน เพราะเชื้อ COVID ไม่สามารถอยู่ในความร้อนได้ ดังนั้น อาหารที่ร้อนๆ ไม่ค่อยมีปัญหาครับ ลองนึกภาพดูครับ ถ้าเรากินอาหารพวกสุกี้ ชาบู ต้มยำหม้อไฟ ฯลฯของพวกนี้ร้อนมาก เชื้อไม่สามารถอยู่ในนั้นได้ การกินอาหารพวกนี้จะปลอดภัย ตรงข้ามกับอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน หรือผ่านมือคนในการเตรียมมากๆ จะมีความเสี่ยง ถ้าคนปรุงอาหารให้เราเกิดเป็นคนที่มีเชื้ออยู่ และไม่ได้ผูก mask และไม่ได้ล้างมืออย่างดี
ดังนั้นเวลาเลือกอาหาร ให้สังเกตุคนขายด้วยนะครับ ว่าเขาใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ หรือมีอาการไอจามไหม และเขาระวังตัวเองมากน้อยแค่ไหน เช่น เราจะกินสัมตำ แต่แม่ค้าที่ตำส้มตำให้เราไม่ใส่หน้ากากอนามัย หรือใส่แต่ใส่ไว้ใต้คาง แถมตะโกนคุยกับคนอื่นเสียงดัง สภาพเช่นนี้ทุกคนคงนึกตามได้นะครับ ว่าเป็นไปได้ที่สัมตำนั้นจะมีนำ้ลายหรือละอองฝอยของแม่ค้าลงไปได้ ควรหลีกเลี่ยงนะครับ อีกอย่างคือ แม่ค้าพ่อค้าที่สูบบุหรี่ สูบไปทำอาหารให้เราไป ลักษณะเช่นนี้ก็มีความเสี่ยง นึกภาพออกนะครับ เวลาสูบบุหรี่ เขาต้องคีบบุหรี่เข้าปาก ซึ่งต้องสัมผัสน้ำลายอยู่แล้ว ดังนั้นในมือเขาย่อมปนเปื้อน เรารับอาหารหรือของจากมือเขาจึงมีความเสี่ยงอย่างมาก
โดยรวมๆ คืออาหารที่ปลอดภัย คืออาหารที่ยังร้อนอยู่ ผ่านมือคนน้อยๆ และเวลากินกินแบบห่างๆกัน ใช้ช้อนกลางของตัวเอง นั่งห่างๆจากโต๊ะอื่น ล้างมือก่อนกินอาหารทุกครั้ง ระวังของใช้ที่ใช้ร่วมกันหลายๆโต๊ะ เช่น ขวดน้ำปลา ซึ่งอาจปนเปื้อนได้
5. ทำ Timeline ของตัวเองไว้จะดีมาก หรืออย่างน้อย checkin ไทยชนะทุกครั้ง
ช่วงเทศกาล มีคนเดินทางจำนวนมาก แต่ละคนเดินทางไปหลายๆที่ ดังนั้นการเฝ้าระวังผู้สัมผัสโรคมื่อพบผู้ติดเชื้อขึ้นถึงมีความสำคัญ พวกเราเวลาไปเที่ยวโดยเฉพาะในช่วงนี้ขอให้ทำ timeline ของตัวเองไว้ จริงๆในโทรศัพท์มือถือปัจจุบันมี feature บางอย่างทำให้เก็บ location history ได้ ซึ่งโดยปกติส่วนใหญ่เราจะปิดไว้ เพราะประเด็น privacy ส่วนบุคคล แต่ในช่วงนี้จะเปิดไว้ก็ดีครับ จะได้ดูว่าตัวเองไปไหนมา เผื่อจำเป็นจะได้เทียบเคียงว่า เราไปในสถานที่ที่มีผู้ติดเชื้อไปหรือไม่ และได้สัมผัสใกล้ชิดกันแค่ไหน
ระบบไทยชนะ ก็เช่นกันครับ ยังจำเป็นและแนะนำให้ใช้อยู่ ระบบนี้จะช่วยงานด้านสาธารณสุขเป็นอย่างมาก เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคจะได้ส่ง SMS แจ้งเราได้เลยว่า เราอาจไปในที่ที่มีผู้ป่วยยืนยันหรือไม่ ดังนั้นแนะนำให้ check in ทุกที่ที่ไปนะครับ เสียเวลานิดหน่อย แต่จะช่วยให้ระบบเฝ้าระวังของประเทศมั่นคง และพวกเราจะได้ปลอดภัย
คำแนะนำอื่นๆที่สำคัญ
- ควรติดตามสถานการณ์การระบาดของโรค จากทางศบค. อย่างใกล้ชิด เพราะโรคนี้ใกล้ตัวของเรามากกว่าที่เราคิด
- ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงการเดินทาง และหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนหมู่มาก เพราะเป็นประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ แล้วอาการอาจรุนแรงได้
- ถ้าหลังเดินทางหรือหลังไปเที่ยวกลับมามีอาการไม่สบาย มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่นหรือลิ้นไม่ได้รส ควรไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางเสมอ
Leave a Reply