ช่วงหลังๆมีคำถามนี้ถามมาบ่อยขึ้นครับ โดยเฉพาะจากน้องๆหมอว่า หมอด้าน Travel Medicine เขาทำงานอะไรกัน มีความพิเศษ แตกต่างจากหมอทั่วไปตรงไหน ทำไมต้องมาเรียน resident ตั้ง 3 ปี มีองค์ความรู้อะไรให้เรียนนักหนา วันนี้จะลองมาเล่าและขยายความให้ฟังครับ เผื่อจะได้เห็นภาพหมอด้านนี้มากขึ้น
- ถ้ามองจากคนภายนอก หลายคนคิดว่า Travel Medicine เป็นศาสตร์ที่ง่ายๆ ไม่ยาก รู้เรื่องวัคซีนนิดๆหน่อยๆ ก็น่าจะพอ เพราะใครๆก็น่าจะตรวจนักท่องเที่ยวได้ เผลอๆตัวเองก็ตรวจฝรั่ง หรือตรวจนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ก็น่าจะนับว่าทำงานด้าน Travel Medicine อยู่แล้วไม่ใช่หรือ จริงๆก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ครับ การตรวจฝรั่งหรือคนต่างชาติเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เราเป็น Travel Medicine doctor เราแค่ใช้วิชาแพทย์พื้นฐานในการตรวจรักษาโรคทั่วไป เพียงแต่กลุ่มคนไข้เราเป็นชาวต่างชาติเท่านั้น
- ถึงตรงนี้อาจจะมีคำถามว่า ถ้าเช่นนั้นหมอ Travel Medicine ทำงานอะไร ไม่เหมือนหมอด้านอื่นตรงๆไหน ก็ต้องบอกอย่างนี้ครับว่า ในมุมของ Travel Medicine เราแบ่งการดูแลนักท่องเที่ยวออกเป็น 2 ส่วนหลักๆคือ การให้ดูแลนักท่องเที่ยวก่อนการเดินทาง หรีือ เรียกว่า Pre-travel counselling และการให้การดูแลนักท่องเที่ยวหลังการเดินทาง หรือ เรียกว่า Post-travel care
- ลองมาดูส่วนแรกกันก่อนครับ คือการดูแลนักท่องเที่ยวก่อนการเดินทาง หลักๆเป็นการให้คำแนะนำในการป้องกันโรคและปัญหาสุขภาพ คือนักท่องเที่ยวสบายดี แต่ก่อนจะเดินทาง เข้ามาปรึกษาหมอที่ Travel Clinic แล้วถามว่าควรเตรียมตัวอย่างไร
- ลองนึกภาพตามนะครับ ถ้าหมอๆอย่างพวกเรา มีนักท่องเที่ยวคนไทย เดินเข้ามาถามว่า คุณหมอครับ ผมอยากไปเที่ยวเกาะ Madagascar อยากไปดูต้น Baobab ตามรูปด้านล่าง ผมควรจะเตรียมตัวอย่างไรดี ต้องฉีดวัคซีนอะไรไหมครับ
-
- ถ้าเป็นคุณหมอ คุณหมอจะตอบอย่างไรดีครับ ถ้าใครไม่คุ้นเคยคงจะอึ้งไปสักพักใช่ไหมครับ จะตอบอย่างไรดีหนา Madagascar มันอยู่ที่ไหนนะ และตรงนั้นมันมีโรคอะไร ต้องฉีดวัคซีนอะไรหรือเปล่านะ ถ้าหมอเราๆไม่รู้จะทำอย่างไรดีครับ นักท่องเที่ยวมานั่งต่อหน้าแล้ว หลายคนคงหาทางเปิดหนังสือ หรือ search internet ซึ่งจริงๆเป็นส่งที่ควรทำครับ แต่ถ้าใครไม่มีประสบการณ์มาก่อน ถึง search ไป ก็ใช่จะเจอข้อมูลที่เราต้องการ และเราก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าเราควรจะตอบนักท่องเที่ยวอย่างไร
- ถ้าเป็นหมอที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วระดับหนึ่ง เช่น Resident Travel Medicine ปี 2 ควรจะสามารถทำได้ดีแล้วครับ เขาต้องนึกออกเลยว่า Madagascar อยู่ตรงไหนของโลก ที่นั่นมีโรคประจำถิ่นอะไรบ้าง อย่างน้อยต้องรู้ว่าตรงนั้นไม่มีโรคไข้เหลือง แต่ยังมีมาลาเรียอยู่ เพราะเขาจะรู้ว่านักท่องเที่ยวมาถามแบบนี้ ต้องมีหลักในการ approach อย่างไร ต้องเริ่มซักประวัติ เก็บข้อมูลตรงไหน เช่นต้องเริ่มเลยว่า จะไปเมื่อไร ไปทำอะไรที่ Madagascar ไปกี่คน เที่ยวแบบไหนบ้าง มีโรคประจำตัวไหม ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้จะเอามาช่วยประเมินความเสี่ยงในการเดินทาง และถ้าเรารู้ว่านักท่องเที่ยวเสี่ยงอะไรแล้ว จะได้ให้คำแนะนำได้ถูกต้อง
- ดังนั้น Travel Medicine จึงไม่มีสูตรตายตัวครับว่า จะไป Madagascar ต้องฉีดวัคซีน 1,2,3 ตาม list นี้ แต่หมอต้องประเมินความเสี่ยงและให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล และจริงๆไม่ได้เฉพาะเรื่องวัคซีนครับ ดังที่กล่าวมาแล้วว่าประเทศ Madagascar ตรงนั้นมีความเสี่ยงของโรคมาลาเรียด้วย ทีนี้ควรจะแนะนำอย่างไรดีล่ะ มีวัคซีนไหม หรือมียา prophylaxis ไหม เหล่านี้เป็นสิ่งที่แพทย์ด้าน Travel Medicine จะต้องตอบได้ (และทันทีด้วย โดยไม่ต้องเปิดหนังสือ)
- สถานการณ์ข้างต้น แม้ว่าเป็นเหตุการณ์สมมุติ แต่ในชีวิตจริงที่คลินิกนักท่องเที่ยว อย่างน้อยที่เขตร้อน ในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเดินเข้ามาพบหมอ และถามเลยจะไปที่นั่นที่นี่ทำอย่างไรดี อย่าลืมนะครับว่า ปัจจุบันโลกเราเล็กลง ข้อมูลข่าวสารมีมาก นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งจะหาข้อมูลมาก่อน เช่นในเหตุการณ์สมมุตินั้น เขาอาจจะถามหมอด้วยซ้ำว่าผมกลัวกาฬโรคที่ Madagascar เห็นว่าระบาดอยู๋ ควรจะทำอย่างไรดีครับหมอ ถ้าหมอที่ให้การดูแลนักท่องเที่ยวอยู่ไม่รู้ หรือไม่ได้ติดตามข่าว ก็ลำบาก หมอๆเราก็ควรจะมีความรู้และตอบให้ได้ครับ
- งานอีกด้านของหมอ Travel Medicine คือการดูแลรักษานักท่องเที่ยวหลังการเดินทาง ตรงนี้พวกเราหลายคนอาจจะคุ้นมากขึ้น เพราะเป็นประเด็นด้าน Medicine ซึ่งเน้นการรักษา อย่างไรก็ตามหมอที่ทำงานด้าน Travel Medicine ต้องมีองค์ความรู้ที่กว้าง ต้องรู้ข้อมูลด้านระบาดวิทยาของโรคต่างๆทั่วโลก และต้องรู้วิธี approach ปัญหาสุขภาพสำคัญๆต่างของนักท่องเที่ยว เช่น
- มีนักท่องเที่ยวคนหนึ่งเดินเข้ามาปรึกษาท่าน แล้วบอกว่า คุณหมอครับ ผมเพิ่งกลับจากเซเนกัล เพิ่งกลับมาได้แค่ 3 วัน พอดีมีไข้ขึ้น ผมจะเป็นโรคอะไรครับ
- ตรงนี้หมอที่ดูแลนักท่องเที่ยวต้องใช้วิชาแพทย์ทั่วไปที่เราเรียนมา ตั้งแต่อาการวิทยา การซักประวัติ และตรวจร่างกายที่ดี ในการหาว่านักท่องเที่ยวรายนี้น่าจะมีไข้จากสาเหตุอะไร และให้การรักษาไปตามนั้น
- ความพิเศษของคนไข้รายนี้อยู่ที่ เขามีประวัติเดินทางเพิ่งไปเซเนกัลกลับมา จะเป็นโรคอะไรจากเซเนกัลหรือเปล่า? หมอควรถามตัวเองเช่นนี้เสมอ โดยเฉพาะถ้าได้ประวัติการเดินทาง หลังจากนั้นหมอต้องคิดต่อว่า ประเทศนั้นอยู่ตรงไหนนะ ตรงนั้นมีโรคอะไรบ้าง ตอนนี้มีอะไรระบาดอยู่ มีไข้เหลืองหรือเปล่า หรือยังมีโรคอีโบลาอยู่ หรือจะเป็น African tick bite fever ได้ไหม แล้ว Katayama fever ล่ะ เป็นได้ไหม ฯลฯ ตรงนี้หมอทั่วไปอาจจะไม่แน่ใจ หรือนึกไม่ออกว่าควรจะถามคำถามอะไรต่อ และจะแยกโรคได้อย่างไร ซึ่งก็ไม่แปลกครับ เพราะการเรียนแพทย์ของเราไม่ได้เน้นโรคที่ไม่มีในประเทศไทย แต่ทักษะตรงนี้เองเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญของแพทย์ด้าน Travel Medicine ซึ่งต้องรู้วิธี approach ต้องให้ differential diagnosis ได้เป็นอย่างดี
- ถ้าใครยังไม่ได้ลองทดสอบความรู้ด้าน Travel Medicine ด้วยตัวเอง แนะนำให้ลองเข้าไปทำดูครับ ส่วนใหญ่เป็นข้อสอบที่ใช้สอบแพทย์ประจำบ้าน Travel medicine ทำได้/ไม่ได้ไม่เป็นไรครับ อย่างน้อยจะพอนึกออกว่า หมอ Travel Medicine เขาควรจะรู้อะไรบ้าง
- จริงๆแล้วใน scope ของ Travel Medicine นอกจากการดูแลนักท่องเที่ยวแต่ละบุคคลแล้ว ยังมีเนื้อหา และประเด็นบางอย่างที่เกี่ยวกับ การควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ การเฝ้าระวัง การควบคุมและสอบสวนโรค ฯลฯ ซึ่งเป็นทักษะเฉพาะของแพทย์สาขานี้ แต่ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้
- ถึงตรงนี้ เชื่อว่า พวกเราหลายคนคงพอจะนึกออกแล้วใช่ไหมครับว่า หมอด้าน Travel Medicine ทำงานอะไร มีความเชี่ยวชาญหรือเฉพาะทางตรงไหน ไว้บทความต่อๆไปจะมีตัวอย่างให้ดูครับว่า หมอด้าน Travel Medicine เวลาให้คำปรึกษานักท่องเที่ยว เราพูดคุยหรือให้คำแนะนำอย่างไรบ้าง
1 Comment