โรคพยาธิตัวจี๊ด
เรียบเรียงโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พารณ ดีคำย้อย
รองศาสตราจารย์พิเศษวรรณา ไมพานิช
รองศาสตราจารย์ชูเกียรติ ศิริวิชยกุล
รองศาสตราจารย์วิชิต โรจน์กิตติคุณ
จัดทำโดย คณะกรรมการแผ่นพับเพื่อการประชาสัมพันธ์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
สาเหตุของโรค
โรคพยาธิตัวจี๊ดมีสาเหตุมาจากพยาธิตัวกลมที่ชื่อเรียกว่า พยาธิตัวจี๊ด และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แนธโธสโตมา สไปนิจิรัม ( Gnathostoma spinigerun )
พยาธิมีรูปร่างลักษณะอย่างไร
ตัวเต็มวัยของพยาธิทั้งตัวผู้และตังเมียยาวประมาณ 1.5 -3.0 ซม. มีลักษณะลำตัวกลมยาว หัวคล้ายลูกฟักทอง ทั้งหัวและตัวของพยาธิพวกนี้จะมีหนาม ตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิมีลักษณะคล้ายพยาธิตัวเต็มวัย แต่มีหนามน้อยกว่าและมีขนาดเล็กมาก มักจะพบขดตัวอยู่ในถุงหุ้มซึ่งฝังตัวอยู่ในเนื้อของสัตว์พาหะ ส่วนพยาธิที่พบในคนจะเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ และมีขนาดยาวประมาณ 0.4 – 0.9 ซม.
แหล่งระบาดของพยาธิและโรค
ในประเทศไทยมีสัตว์ประมาณ 48 ชนิดที่ตรวจพบว่ามีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ดอยู่ ได้แก ปลาน้ำจืด เช่น ปลาไหล ปลาช่อน ปลาดุก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู ตะกวาด สัตว์ปีก เช่น นกกินปลาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งเป็ดและไก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนูพุก หนูท้องขาว กระแต ส่วนสัตว์ที่เป็นรังโรคพยาธิตัวจี๊ดมีหลายชนิด เช่น สุนัข แมว เสือ
จากการสำรวจปลาไหลในเขตภาคกลางของประเทศไทย พบว่ามีการแพร่กระจายของพยาธิตัวจี๊ดในหลายจังหวัด เช่น นครนายก ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ราชบุรี สระบุรี ลพบุรี เป็นต้น อาหารที่ปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารหมักที่ทำจากปลาน้ำจืด เช่น ส้มฟัก ปลาร้า ปลาเจ่า หรือเนื้อสัตว์อื่น ๆ อาจพบว่ามีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ดอยู่เช่นกัน.
วงจรชีวิต
ตัวเต็มวัยของพยาธิตัวจี๊ดทั้งตัวผู้และตัวเมีย อาศัยอยู่ในผนังกระเพาะอาหารของสุนัขและแมว หลังจากพยาธิผสมพันธุ์แล้ว พยาธิตัวเมียจะออกไข่ซึ่งจะปนออกมากับอุจจาระของสัตว์เหล่านี้ เมื่อไข่ลงน้ำจะฟักตัวออกมาเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 เมื่อตัวกุ้งไร ( Cyclops ) กินตัวอ่อนระยะนี้ จะเจริญไปเป็นตัวอ่อนระยะที่ 2 และระยะที่3 ขั้นเริ่มต้น เมื่อปลากินกุ้งไรที่ตัวอ่อนระยะนี้ พยาธิจะเจริญไปเป็นตัวอ่อนระยะที่ 3 ขั้นสุดท้ายซึ่งเป็นระยะติดต่อ ถ้าสุนัขหรือแมวกินปลานี้เข้าไป พยาธิก็จะเจริญเป็นตัวเมียเต็มวัยในผนังกระเพาะอาหาร แต่ถ้าคนกินปลาซึ่งมีพยาธิระยะติดต่อเข้าไป พยาธิก็จะคืบคลานหรือไชไปตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ยังไม่มีรายงานว่าพบพยาธินี้เจริญเป็นตัวตัวเต็มวัยจนสามารถออกไข่ได้ในคน.
การติดต่อ
โรคที่เกิดจากพยาธิตัวจี๊ด สามารถเป็นได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยการกินตัวอ่อนระยะติดต่อที่ปะปนอยู่ในเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะปลาน้ำจืดที่ปรุงไม่สุก หรืออาจติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์โดยไชผ่านทางรก นอกจากนี้พยาธิยังสามารถไชเข้าทางผิวหนัง โดยเฉพาในคนบางกลุ่มที่ใช้เนื้อสัตว์สด ๆ เช่น กบ ปลา มาพอกแผลเพื่อให้หายเร็วขึ้น.
อาการ
อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการที่เกิดจากพยาธิไชอยู่ใต้ผิวหนัง ตามลำตัว แขน ขา และบริเวณใบหน้า ทำให้บวม แดงบริเวณนั้นหรือเห็นเป็นรอยทางแดง ๆ ตามแนวที่พยาธิไชผ่าน อาการบวมแดงนี้ จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วจะหายไปเองแม้ไม่ได้รับการรักษา หลังจากนั้นอาจจะบวมขึ้นมาใหม่ในบริเวณอื่นใกล้ ๆ กัน แถบเดียวกัน บางครั้งทำให้เกิดเป็นก้อนคล้ายเนื้องอกตามอวัยวะต่าง ๆ นอกจากที่ผิวหนังแล้ว พยาธิอาจไชไปอวัยวะที่สำคัญอื่น ๆ เช่น ตา ปอด กระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะถ้าไปที่สมองจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ปวดตามเส้นประสาท
การวินิจฉัย
การจะบอกว่าเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ดแน่นอน ต้องตรวจพบตัวพยาธิ ซึ่งอาจจะไชออกมาทางผิวหนังเอง แต่โดยทั่วไปมักไม่พบพยาธิแม้จะผ่าเข้าไปข้างในบริเวณที่บวม ดังนั้นการที่จะบิกว่าเป็นโรคนี้ จึงมักดูจากอาการของโรคว่ามีอาการเจ็บ ปวด บวม เคลื่อนที่ได้ และพฤติกรรมการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือไม่ และเจาะเลือดหรือน้ำไขสันหลังเพื่อตรวจด้วยวิธีทางอิมมิวโนวินิจฉัย
การรักษา
ควรพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยันว่าเป็นพยาธิตัวจี๊ดจริง และพิจารณาให้ใช้ยารักษาพยาธิที่เหมาะสม