Thai Travel Clinic

Hospital for Tropical Diseases
Faculty of Tropical Medicine, Mahidol University

Main Menu

มี 75 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

ไข้ฉี่หนู Leptospirosis

 

เรียบเรียงโดย     ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุษณีย์  สุทธิสารสุนทร          
จัดทำโดย         คณะกรรมการแผ่นพับเพื่อการประชาสัมพันธ์   คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

 

leptospirosis1

 

 

สาเหตุของโรค
                  ไข้ฉี่หนู  เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียที่มีรูปร่างเกลียว  มีชื่อว่า เลปโตสไปรา ( Leptospira ) จึงเรียกชื่อโรคนี้ว่าเลปโตสไปโรซิส ( Leptospirosis ) เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคในคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว สุกร โค กระบือ ม้า แพะ แกะ ฯลฯ  และที่สำคัญคือ หนู แต่สัตว์ต่าง ๆ อาจไม่แสดงอาการป่วย

การติดต่อ
                   โรคนี้ติดต่อจากสัตว์สู่คน  โดยสัตว์ที่เป็นโรคนี้จะขับถ่ายเชื้อโรคออกมากับปัสสาวะ เชื้อจะอาศัยได้ในดินที่ชื้นแฉะหรือมีน้ำขัง  และเข้าสู่คนทางผิวหนังอ่อน เช่น ชอกนิ้วมือและเท้า บาดแผลหรือเยื่อเมือก ดังนั้นมักจะพบโรคนี้ในคนที่ทำงานเกียวข้องกับสัตว์ เช่น สัตวบาล เกษตรกร และผู้มีอาชีพสัมผัสกับน้ำหรือคนที่ย่ำน้ำในที่น้ำท่วมขังนาน ๆ

 

แหล่งระบาด
                    โรคนี้พบมากในเขตร้อนหรือเขตมรสุม  เพราะมีสภาพอากาศที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของเชื้อ  และมีสัตว์ที่เป็นรังโรคอยู่ชุกชุม  ในประเทศไทยโรคนี้กระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีรายงานพบผู้ป่วยมากในภาคอีสาน

อาการ
                     คนที่ได้รับเชื้ออาจมีหรือไม่มีอาการ  ในผู้ที่มีอาการมักแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ 2-3 วัน  จนถึง 2-3 สัปดาห์  อาการที่สำคัญ คือ มีไข้  ปวดศีรษะ  ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อโดยอย่างยิ่งที่น่อง  ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง  ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน  คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย หรืออาการทางสมองและระบบประสาท  และอาจถึงตายได้ ( อัตราการตายสูงถึงร้อยละ 10-40)

การวินิจฉัย
                     โดยการซักประวัติผู้ป่วยเกี่ยวปัจจัยเสี่ยงของโรค  อาการป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดและปัสสาวะของผู้ป่วย

การรักษา
                     โรคนี้หากรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ โดยให้ยาปฏิชีวนะเฉพาะโรคจะได้ผลดีกว่าปล่อยให้มีอาการรุนแรงแล้วจึงรักษา  เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้  แต่ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เอง  เพราะอาจเป็นอันตรายจาการแพ้ยา  หรือใช้ยาที่ไม่ถูกต้องได้  ดังนั้นควรพบแพทย์เพี่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง

leptospirosis2



การป้องกัน
ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายโดยไม่เดินย่ำหรือแช่อยู่ในน้ำที่ท่วมขัง    
   • ถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้ป้องกันการสัมผัสน้ำโดยใช้รองเท้าบู้ทยาง ถุงมือยาง เป็นต้น
   • ควรฉีดวัคซีนให้สัตว์เลี้ยงเพื่อไม่ให้เป็นรังโรค
   • กำจัดหนู และปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาดถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของหนู