สำหรับวัคซีนที่ใช้ในนักท่องเที่ยวนั้น สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆคือ
1. วัคซีนที่จำเป็นต้องได้รับก่อนการเดินทาง (Required vaccine) เป็นวัคซีนที่ถูกกำหนดว่านักเดินทางจำเป็นต้องได้รับก่อนการเดินทาง ซึ่งเป็นไปตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (WHO IHR) ซึ่งปัจจุบันมีเพียงชนิดเดียวคือ วัคซีนไข้เหลือง นักท่องเที่ยวที่จะต้องเดินทางไปยังดินแดนที่มีการระบาดของไข้เหลือง คือประเทศในแถบแอฟริกา และอเมริการใต้ จำเป็นต้องได้รับวัคซีนนี้ก่อนการเดินทางอย่างน้อย 10 วัน ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับวัคซีนไข้เหลืองได้ที่บทความต่อไปนี้
- วัคซีนไข้เหลือง เรื่องจำเป็นก่อนไปแอฟริกา,อเมริกาใต้
- สมุดรับรองการฉีดวัคซีนไข้เหลือง
- สถานที่ฉีดวัคซีนไข้เหลือง
2. วัคซีนที่แนะนำให้ใช้ในนักท่องเที่ยวตามความเหมาะสม (Recommended vaccine for travelers) วัคซีนในกลุ่มนี้ เป็นวัคซีนที่แนะนำให้ใช้ในนักท่องเที่ยวหรือนักเดินทางบางกลุ่ม/บางคน ตามความเหมาะสม โดยแพทย์จะพิจารณาปัจจัยหลายๆอย่างประกอบกันเช่น ประเทศหรือสถานที่ที่จะไปมีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากแค่ไหน ระยะเวลาที่จะไป กิจกรรมที่จะไปทำ (เช่นไปทำงาน ไปเรียน หรือไปท่องเที่ยว) ตลอดจนต้องพิจารณาถึงตัวนักท่องเที่ยว/นักเดินทางและตัวโรคด้วย การพิจารณาดังกล่าวจะทำในการให้คำปรึกษาก่อนการเดินทาง วัคซีนในกลุ่มดังกล่าวคือ
- วัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ (Typhoid vaccine) ซึ่งจะพิจารณาให้ในนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปในประเทศแถบเอเชียใต้ เช่น อินเดีย,เนปาล,บังกลาเทศ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการติดโรคไทฟอยด์ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนไทฟอยด์ (Typhoid vaccine)
- วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine) โดยปกติแล้วในคนไทยมักจะคุ้นเคยกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังการสัมผัสโรค นั่นคือเมื่อถูกกัด,ถูกข่วน ผู้ป่วยจึงไปพบแพทย์เพื่อขอฉีดวัคซีน, Immunoglobulin ซึ่งวิธีดังกล่าวอาจไม่เหมาะกับนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม เช่นนักเดินทางในพื้นที่ห่างไกลในประเทศอินเดีย ประเทศจีน หรือประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เนื่องจากเมื่อนักท่องเที่ยวถูกสัตว์กัดแล้ว การหาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและ Immunoglobulin ฉีดอาจทำได้ยากมาก จึงควรพิจารณาให้วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าก่อนการสัมผัสโรค อ่านรายละเอียดได้จากบทความนี้ โรคพิษสุนัขบ้ากับนักท่องเที่ยว
- วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A vaccine) ไวรัสตับอักเสบเอเป็นโรคที่ติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนไวรัสดังกล่าว ผู้ป่วยส่วนใหญ่โดยเฉพาะในเด็ก มักจะไม่มีอาการ แต่อาการจะมีมากและอาจรุนแรงได้ในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ สมัยก่อนโรคนี้พบได้ชุกในประเทศไทย ทำให้ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 40-50 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่มีภูมิคุ้นกัน เนื่องจากมีการติดเชื้อโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันการสาธารณสุขและการสุขาภิบาลของประเทศไทยดีขึ้นมาก ทำให้อัตราการติดเชื้อในธรรมชาติของเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ตอนต้นมีน้อยลง ดังนั้นจึงแนะนำให้วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ ในประชากรกลุ่มดังกล่าวต้องเดินทางไปในประเทศกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ คือประเทศในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชียใต้ และประเทศในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ วัคซีนดังกล่าวต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6-12 เดือน
- วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal vaccine) วัคซีนนี้เป็นวัคซีนเฉพาะที่แนะนำให้ใช้ในนักเดินทางนักท่องเที่ยวบางกลุ่มคือ
- นักเดินทางที่จะไปในทวีปแอฟริกา บริเวณที่เรียกว่า Meninigitis belt เช่นประเทศซูดาน ไนจีเรีย เอธิโอเปีย ฯลฯ
- นักเรียน,นักศึกษาไทยที่จะไปศึกษาต่อในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา ซึ่งมีข้อกำหนดให้ต้องฉีดวัคซีนชนิดนี้ก่อนไป โดยเฉพาะถ้าต้องไปอยู่ในหอพัก
- ผู้แสวงบุญที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบียกำหนดไว้ว่าทุกคนที่เข้าไปแสวงบุญจำเป็นต้องฉีดวัคซีนนี้ก่อนไป
อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal vaccine)
- วัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรค (Cholera vaccine) เป็นวัคซีนที่ไม่แนะนำให้ใช้ในนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป เนื่องจากโอกาสที่จะติดเชื้ออหิวาตกโรคระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวมีน้อยมาก อย่างไรก็ตามแพทย์จะพิจารณาให้วัคซีนนี้แก่นักท่องเที่ยว,นักเดินทางบางกลุ่มคือ กลุ่มที่ต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ หรือเข้าไปทำงานในค่ายผู้อพยพลี้ภัย หรือเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข,เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร ปัจจุบันในประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดรับประทาน ต้องดื่มวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 1-6 สัปดาห์
- วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สามารถพบได้ทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศยุโรป อเมริกามีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในประชาชนทั่วไป ไม่เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยว ในประเทศไทยเอง กระทรวงสาธารณสุขมีการสนับสนุนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรีให้ประชาชนในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถพิจารณาฉีดได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีการเดินทางหรือไม่ แตสำหรับนักเดินทาง,นักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มว่าจะต้องเข้าไปในที่ชุมนุมชน หรือในสถานที่แออัด มีคนเป็นจำนวนมาก เช่น ผู้ที่จะไปพิธีแสวงบุญ ผู้จะไปชมกีฬา ไปเที่ยวงานเทศกาลต่างๆ สมควรพิจารณาฉีดวัคซีนนี้