โครงการวิจัย
ปัญหาทางสุขภาพของแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาคร
ทีมาของโครงการวิจัย
หลังจากประเทศไทยได้เปิดประตูสู่อาเซียน และเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (ASEAN Economic Community : AEC) อย่างเต็มตัว แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศพม่า กัมพูชา ลาว ได้เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวเป็นกำลังสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเข้ามาเติมเต็มในส่วนของงานที่คนไทยไม่นิยมทำเนื่องจากลำบาก ความเสี่ยงสูง และได้ค่าตอบแทนต่ำ ในปัจจุบันยังไม่ค่อยมีการศึกษาที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับสุขภาวะของกลุ่มคนเหล่านี้ในประเทศไทย ทั้งๆที่กลุ่มแรงงานต่างด้าวอาศัยในสภาพแวดล้อมที่แออัดและมีสาธารณสุขที่ไม่ดีซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการที่จะเกิดปัญหาทางสุขภาพต่อไปในอนาคต
โครงการวิจัยนี้ทำขึ้นเพื่อศึกษาถึงปัญหาทางสุขภาพของแรงงานต่างด้าว ที่อาศัย อยู่ ณ จังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงศึกษาหาตัวแปรที่มีผลต่อพฤติกรรมด้านการรักษาตนเองยามเจ็บป่วย และการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ของแรงงานต่างด้าว ได้แก่ ชาวพม่า ชาวกัมพูชา และชาวลาว
การวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว และหลักสูตร Master degree in Clinical Tropical Medicine (MCTM) หัวหน้าโครงการวิจัยคือ พญ.พีญาวดี เพชรประภากร แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 2
รายละเอียดและขั้นตอนการวิจัย
ผู้วิจัยจะขอให้ท่านกรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพ ซึ่งจะเป็นคำถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไป โดยไม่มีการระบุชื่อ ปัญหาทางสุขภาพที่มีขณะพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย (ในกรณีที่อยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 3 ปี ให้ตอบข้อมูล 2 ปีล่าสุด และวิธีการรักษาตัวที่ใช้ โดยขอผลการตรวจจากการตรวจสุขภาพไปประกอบด้วย (ผลภาพถ่ายรังสีทรวงอก ผลการตรวจเลือด และผลการตรวจปัสสาวะ) เป็นเพียงการตอบแบบสอบถามเพียงครั้งเดียว
ผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการวิจัยได้คือ
- แรงงานต่างด้าว (สัญชาติพม่า/กัมพูชา/ลาว) ที่มารับการตรวจสุขภาพที่คลินิกตรวจสุขภาพแรงงานข้ามชาติ โรงพยาบาลกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร
- อายุมากกว่า 18 ปี
- ทำงาน/พักอาศัยในประเทศไทยเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน
- สมัครใจยินดีเข้าร่วมโครงการวิจัย