โครงการวิจัย
การใช้ยาป้องกันมาลาเรียและผลข้างเคียงของยาในนักท่องเที่ยว
ที่มาของโครงการวิจัย
ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปในพื้นที่ที่มีโรคมาลาเรียเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวทุกคนควรจะรู้จักวิธีป้องกันโรคมาลาเรีย ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ยุงกัด และนักท่องเที่ยวต้องรู้จักอาการ และอาการแสดงของโรคมาลาเรีย ถ้ามีไข้ระหว่างหรือกลับจากพื้นที่เสี่ยงจำเป็นต้องมาพบแพทย์เสมอ โดยทั่วไปนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวในบริเวณที่มีความเสี่ยงต่ำเช่น เที่ยวป่าในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเอเชียใต้ ไม่จำเป็นต้องกินยาป้องกันมาลาเรีย อย่างไรก็ตามมีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งที่เดินทางไปพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงมาก เช่น ทวีปแอฟริกา ปาปัวนิกีนี จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องยามาลาเรีย
องค์การอนามัยโลก(WHO) แนะนำนักท่องเที่ยวเหล่านี้ให้รับประทานยาป้องกันมาลาเรียและใช้วิธีป้องกันยุงอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามก็ยังยังพบว่ามีนักท่องเที่ยวติดมาลาเรียจากการเดินทาง ซึ่งสาเหตุหลักคือการไม่รับประทานยาป้องกันมาลาเรียหรือการรับประทานไม่ครบถ้วน หรือเกิดผลข้างเคียงของการรับประทานยา จนหยุดยาเอง ถึงแม้ว่ายาป้องกันมาลาเรียทุกตัวจะมีผลข้างเคียงแต่ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและนักท่องเที่ยวสามารถทนผลข้างเคียงและรับประทานยาต่อได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลเรื่องการรับประทานยาตลอดจนโอกาสการเกิดผลข้างเคียงของยาในนักท่องเที่ยวยังมีน้อย จึงจำเป็นต้องทำการวิจัยนี้้
การวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว และหลักสูตร Master degree in Clinical Tropical Medicine (MCTM) หัวหน้าโครงการวิจัยคือ พญ.จิตรฟ้า หรูรุ่งโรจน์ แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 2
คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย
1. อายุระหว่าง 18-70 ปี
2. มีแผนการเดินทางไปพื้นที่ที่มีมาลาเรียเป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน
3. เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ที่คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง
4. แพทย์พิจารณาสั่งยาป้องกันมาลาเรีย
5. ยินดีเข้าร่วมโครงการวิจัยโดยสมัครใจ
รายละเอียดและขั้นตอนการวิจัย
นักท่องเที่ยวที่ได้รับยาป้องกันมาลาเรียและมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของผู้เข้าร่วมงานวิจัยจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานวิจัย งานวิจัยนี้ใช้แบบสอบถามในการประเมิน แบบสอบถามมี 2 ครั้ง คือแบบสอบถามก่อนการเดินทางและแบบสอบถามหลังการเดินทาง หลังจากที่นักท่องเที่ยวยินยอมเข้าร่วมงานวิจัยแล้ว ผู้ที่เข้าร่วมงานวิจัยจะต้องตอบแบบสอบถามก่อนการเดินทางซึ่งเป็นข้อมูลทั่วไป ในวันที่มารับบริการที่คลินิก และตอบแบบสอบถามหลังการเดินทางซึ่งจะถูกส่งไปทางอีเมลล์หรือสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ภายใน 1สัปดาห์หลังจากวันที่ครบกำหนดของยาเม็ดสุดท้าย ทั้งนี้การเข้าร่วมโครงการวิจัยเป็นไปด้วยความสมัครใจ การเข้าหรือไม่เข้าร่วมวิจัย ไม่ส่งผลถึงการรับบริการและการรักษาพยาบาลที่จะได้รับต่อไปในอนาคต
น้ำตกวิกตอเรีย ประเทศซิมบับเว หนึ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อมาลาเรีย
{sh404sef_social_buttons}